มีคำถามและข้อสงสัยในหมู่นักดื่ม ชาเขียวมัทฉะ ชาวไทยมากมายว่า ถ้าจะซื้อ แปรงชงมัทฉะ รุ่นไหนตีขึ้นฟองได้ดีที่สุด? หรือ รุ่นไหนจับถนัดมือและตีได้ง่ายที่สุด? หรือ ทำไมฉะเซ็นจึงมีหลากหลายรูปทรงแตกต่างกัน? เนื่องจากเดือนที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาถามหาฉะเซ็นญี่ปุ่นหลายท่าน จึงขอรวบรวมข้อมูลเท่าที่รู้ จากหนังสือเกี่ยวกับฉะเซ็นภาษาญี่ปุ่น บวกกับความรู้ที่ได้จากช่างฝีมือทำฉะเซ็นสองท่าน คือคุนคุโบะ ซะบุน กับคุณทะนิมุระ ทันโกะ ให้ผู้อ่านทุกท่านไว้ใช้พิจารณา เผื่อจะใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจเวลาเลือกซื้อฉะเซ็นกันครับ
.
ทำไม แปรงชงมัทฉะ จึงมีรูปทรงแตกต่างกัน
สำหรับคำถามแรก ที่คนเริ่มชงมัทฉะมักเกิดตั้งคำถามขึ้นในใจ คือข้อสงสัยว่าทำไม แปรงชงมัทฉะ จึงมีรูปทรงแตกต่างกัน ตรงนี้ต้องขอตอบว่าไม่เกี่ยวกับการใช้งานเลย เหตุผลที่ฉะเซ็นถูกแบ่งออกเป็นมากกว่า 100 รุ่นนั้น เป็นเหตุผลทางด้าน Aestetic หรือสุนทรียศาสตร์ล้วนๆ พูดง่ายๆก็คือสำหรับคนญี่ปุ่นในสมัยก่อน โดยเฉพาะพวกอิเอะโมะโตะ (ผู้นำตระกูลหรือผู้สืบทอดแบบแผนการชงชาของสำนักต่างๆ) เขาเลือกรูปทรงจากฉะเซ็นที่มีอยู่ หรือไม่ก็สั่งให้ช่างฝีมือดัดแปลงลักษณะของฉะเซ็น เช่นชนิดของไม้ไผ่ รูปทรงของฉะเซ็น จำนวนซี่ไม้ไผ่ โดยใช้มุมมองด้านความสวยงามเป็นหลัก พูดง่ายๆก็คือ เลือกตามใจตนเองเลยว่า คิดว่าแบบไหนสวยที่สุดก็เลือกอันนั้น ถ้าแบบที่มีอยู่ไม่สวยมากพอ ก็สั่งให้ช่างออกแบบใหม่ให้ซะเลย โดยอาจจะอ้างอิงจากฉะเซ็นของสำนักชงชาอื่นๆ เอานั่นมาผสมนี่ จนกลายเป็นรูปทรงใหม่ๆขึ้นมา
.
พออิเอะโมะโตะเหล่านี้เลือกรูปทรงได้แล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะตั้งเป็นข้อกำหนดของการชงชาภายในสำนัก ว่าต้องใช้ฉะเซ็นรูปแบบนี้เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นการชงชาที่เป็นทางการ ก็จะใช้ฉะเซ็นให้ถูกประเภทตามที่สำนักชงชาของตนกำหนด หากแต่พอถึงเวลาฝึกซ้อม(โอะเคโขะ) ก็จะมีการอนุโลมให้ใช้ฉะเซ็นที่หาซื้อได้ง่ายที่สุดในตลาด
อธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกก็คือ แต่ละสำนักชงชาจะมีการกำหนดรูปแบบของฉะเซ็นไว้ ว่าในพิธีชงชาแบบทางการจะต้องใช้แบบตามที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งฉะเซ็นที่ใช้ในพิธีแบบทางการนี้จะสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว พอใช้เสร็จก็จะกลายเป็นของฝึกซ้อม (คนญี่ปุ่นนับฉะเซ็นว่าเป็นโชโมฮิง แปลว่าของใช้แล้วทิ้ง ต่างกับฉะชะขุ ที่จะใช้กันเป็นสิบๆร้อยๆปี กลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน) แต่พอไปฝึกซ้อมกันเองตามบ้าน แต่ละคนก็จะหาซื้อฉะเซ็นที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่เพียงสองรุ่นเท่านั้น คือรุ่นชิน 真 กับรุ่นขะสึโหะ 数穂
ทำไมฉะเซ็นที่มีวางขายอยู่ในปัจจุบัน มีแค่รุ่นชิน กับขะสึโหะ
ทีนี้มาถึงเรื่องเล่ากันบ้าง ว่าทำไมฉะเซ็นที่มีวางขายอยู่ในปัจจุบัน มีแค่รุ่นชิน กับขะสึโหะ เรื่องเล่านี้มาจากคุณทะนิมุระ ทันโกะ
.
ฉะเซ็นรุ่นชิน 真 เป็นรุ่นที่ช่างฝีมือรับรู้กันว่าสำนักอุระเซนเกะ กับโอะโมะเตะเซนเกะ (เป็นพี่น้องกัน) ใช้เป็น แปรงชงมัทฉะ ทางการของตน จะมีข้อแตกต่างกันก็เพียงแค่ว่า สำนักอุระเซนเกะใช้ไผ่ขาว สำนักโอะโมะเตะเซนเกะใช้ไผ่สึสึ (ไผ่รมควันอายุเก่าแก่หนึ่งร้อยกว่าปี)
.
สมัยที่ผมเรียนชงชาอยู่ที่ญี่ปุ่น อาจารย์เล่าให้ฟังว่าได้ยินมาว่าเนื่องจากไผ่สึสึหายาก ปัจจุบันในสำนักโอะโมะเตะเซนเกะจึงมีการอนุโลมให้ใช้ไผ่ดำแทนได้ เพราะสีเข้มเหมือนกันและหาได้ตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรผมก็ไม่อาจทราบได้ เพราะสำนักชงชาที่กระจายตัวอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองคือสำนักอุระเซนเกะ อาจารย์ของผมอยู่สำนักอุระเซนเกะ สมัยเรียนมหาลัยมีเพื่อนคณะพยาบาลคนหนึ่งอยู่สำนักโอะโมะเตะเซนเกะ เคยถามเพื่อนว่าเขาใช้ฉะเซ็นแบบไหน แต่เพื่อนก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกันเพราะไม่ได้ใส่ใจ จำได้แต่เพียงว่าไม่ใช่ฉะเซ็นสีขาว (5555) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจารย์ของผมเคยบอกว่า รุ่นชิน เป็นรุ่นที่สำนักอุระเซนเกะมักจะใช้รับแขก เพราะรูปทรงดูสวยงาม เพอร์เฟ็ค เข้ากับอุดมคติของสำนักอุระเซนเกะมากที่สุด
.
ส่วนคุณทะนิมุระ ทันโกะ ก็ให้ข้อมูลแค่เพียงว่าฉะเซ็นรุ่นชิน เป็นรุ่นทางการของทั้งสำนักอุระเซนเกะ และโอะโมะเตะเซนเกะ ต่างกันก็แต่เพียงชนิดของไม้ไผ่ รูปทรงของรุ่นชินนี้จะคล้ายกับไข่ไก่ ซี่ไม้ไผ่โอบล้อมขึ้นไปสวยงาม ปลายไม้ไผ่แต่ละซี่งุ้มเข้าหาแกนกลาง ส่วนซี่ไม้ไผ่ตรงกลางก็จะเหยียดยาวโค้งตัวเข้าหากัน คุณทะนิมุระบอกว่า ไม่มีบันทึกอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่ารุ่นชิน แต่ในความเห็นส่วนตัว เขาคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความสวยงามของฉะเซ็นรุ่นนี้ ที่สวยงามในแบบที่ฉะเซ็นจริงๆสมควรจะเป็น (คำว่าชิน หมายถึงความจริง, เนื้อแท้, จริงๆ)
.
นอกจากสองสำนักชงชาข้างต้นแล้ว ยังมีสำนักเสะขิชูริว 石州流 กับเอ็นชูริว 遠州流 ที่ใช้ฉะเซ็นคล้ายๆรุ่นชินด้วย แต่ด้ามไม้ไผ่จะใหญ่กว่า และปลายของซี่ไม้ไผ่ก็ไม่ได้ม้วนตัวโค้งกลายเป็นรูปทรงไข่ แต่จะเหยียดตรงขึ้นฟ้า
.
อีกรุ่นหนึ่งที่หาซื้อกันได้ง่าย จะว่าไปง่ายกว่ารุ่นชินอีก อีกทั้งของที่ผลิตในจีนก็ทำรูปทรงออกมาเหมือนรุ่นนี้เลย ก็คือรุ่น “ขะสึโหะ” 数穂 จริงๆฉะเซ็นรูปแบบนี้ มีการผลิตออกมาแยกย่อยไปอีกหลายแบบ เช่น ขะสึโหะ จะมีจำนวนซี่ 70-80 ซี่ ขนาดของด้ามจะใหญกว่ารุ่นชินเล็กน้อย และรุ่น 80 ซี่ ที่จะมีด้ามที่ใหญ่ขึ้นมาอีก แล้วก็รุ่น 100 ซี่ และ 120 ซี่ ซึ่งขนาดของท่อนไม้ไผ่ที่นำมาทำ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฉะเซ็นรุ่น 120 ซี่ มีขนาดด้ามใหญ่ที่สุด
.
สาเหตุที่รุ่น ขะสึโหะ ได้รับความนิยม จนถึงขนาดว่าประเทศจีนเองก็ผลิตขาย เป็นเพราะว่า ฉะเซ็นสองรุ่นนี้ ถูกใช้โดยสำนักตระกูลเซนมาตั้งแต่ในอดีต รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่ง คือเซนเกะกะตะ 千家型 แปลตรงตัวว่า รูปทรงตระกูลเซน ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันนี้ตระกูลเซนจะแยกออกเป็นสามสาย และแต่ละสายก็มีฉะเซ็นรูปแบบที่ตนเองกำหนดเอง แต่ถ้าไม่ใช่พิธีชงชาที่เป็นทางการ ก็สามารถใช้ฉะเซ็นรุ่นนี้ในการตีชามัทฉะได้ โดยไม่ผิดแปลกอะไร และอย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้า ว่าฉะเซ็นรุ่นนี้มีตั้งแต่ 70 กว่าซี่ ไปจนถึง 120 ซี่ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ ว่าชอบใช้งานแบบไหน แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะมีขายกันเฉพาะรุ่น 70-80 ซี่เท่านั้น เพราะว่าถ้าทำจำนวนซี่มากกว่านั้น ก็จะใช้เวลามากขึ้น ค่าแรงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งซี่ไม้ไผ่ที่เล็กลงก็มีโอกาสสูงที่จะแตกหักระหว่างการใช้งานนั่นเองครับ
ข้อแตกต่างของจีนกับของญี่ปุ่น ดูได้ไม่ยาก
เพราะฉะนั้น ฉะเซ็นรุ่นเซนเกะกะตะ (รูปทรงตระกูลเซน) หรือขะสึโหะ (แปลตรงตัวว่า ซี่หลายซี่) ก็ถือได้ว่าเป็นรุ่นพื้นฐาน สมัยก่อนลูกศิษย์สำนักชงชาบ้านเซนทั้งสามบ้าน ก็ใช้รุ่นนี้กันมาก ทำให้จีนผลิตขึ้นมาเลียนแบบเป็นจำนวนมาก แต่ข้อแตกต่างของจีนกับของญี่ปุ่น ดูได้ไม่ยากเลยครับ ถ้าเคยจับของญี่ปุ่นดูแล้ว จะเห็นว่าของญี่ปุ่นงานละเอียดกว่า ไม้ไผ่มีคุณภาพดีกว่า ถ้าเป็นของญี่ปุ่นมาจากช่างฝีมือดังๆจะมาในกล่องกระดาษสา แต่ถ้าเป็นของจีนส่วนใหญ่จะใช้กล่องพลาสติกรูปทรงกระบอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีช่างฝีมือตระกูลทะนิมุระ ที่เป็นญาติของคุณทะนิมุระ ทันโกะ ที่บรรจุฉะเซ็นของตนเองลงกล่องพลาสติกเช่นเดียวกัน แต่ก็สามารถดูออกได้โดยง่าย เพราะของญี่ปุ่นจะมีสติ๊กเกอร์ชื่อของช่างฝีมือติดไว้อยู่ และเท่าที่ผ่านมา ก็ไม่เห็นจะมีการปลอมแปลงสติ๊กเกอร์นี้สักครั้ง เพราะของจีนขายราคาถูกกว่ามาก ขายได้เยอะอยู่แล้วในแง่ของปริมาณ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปทำของปลอมให้มีบรรจุภัณฑ์เหมือนกันกับของญี่ปุ่น ซึ่งที่ญี่ปุ่นเอง ถือว่าตลาดของฉะเซ็นจะแยกออกจากกันค่อนข้างชัดเจนครับ คนซื้อของจีนกับของญี่ปุ่นคือคนละกลุ่ม ที่ร้านขายอุปกรณ์ชงชา ถ้าเป็นร้านในเมืองใหญ่ๆก็จะขายคู่กันทั้งของจีนและของญี่ปุ่น ลูกค้าของทั้งสองกลุ่มก็ค่อนข้างชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว วางขายทั้งสองแบบก็สามารถขายอยู่ได้ตลอด
.
ทีนี้มาถึงรุ่นที่สาม ที่อยากพูดถึง เพราะคุณทะนิมุระ ทันโกะก็พูดถึงเช่นกัน และโดยส่วนตัว ผมมองว่าฉะเซ็นรุ่นนี้คือรุ่นที่สวยงามที่สุด
.
รุ่นที่สามนี้ เรียกกันรวมๆว่า รูปทรงแบบริคิว หรือ ริคิวโขะโนะมิ 利休好み (คำว่าโขะโนะมิ แปลว่า ชื่นชอบ) เป็นรูปทรงที่เซนโนะริคิวให้นิยามไว้ว่าเป็นฉะเซ็นที่มีรูปทรงสวยงาม ตรงตามแบบในอุดมคติมากที่สุด
.
ริคิวโขะโนะมิ ตามตำราที่สืบทอดกันมา 400 ปีนั้น จะต้องใช้ไผ่ขาว ซี่ไม้ไผ่ต้องเล็ก เรียว ซี่ไม้ไผ่เมื่อฝานออก จะแผ่ออกด้านข้าง เหยียดตรง โดยไม่หักงอ หรือโค้งเข้าหาจุดศูนย์กลาง ซึ่งสำนักมุฉะโคจิเซนเกะหยิบยืมรูปทรงนี้ไปใช้ โดยเปลี่ยนวัสดุเป็นไผ่ดำ และกำหนดขนาดของท่อนไม้ไผ่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนิด เวลาเรียก ก็จะเรียกว่ารุ่นมุฉะโคจิเซนเกะ แต่หากพูดกันตามจริง ก็จะถือว่าเป็นรูปทรงริคิวโขะโนะมิได้เหมือนกัน
.
สรุปแล้วก็คือ ที่ญี่ปุ่น ถ้าจะเลือกใช้ฉะเซ็นอันไหน ให้ดูสำนักของตนเอง สำนักเซนใหญ่ๆสามสำนักที่เป็นพี่น้องกัน ทั้งอุระเซนเกะ โอะโมะเตะเซนเกะ และมุฉะโคจิเซนเกะ จะมีรูปแบบที่ใช้สำหรับพิธีชงชาแบบทางการอยู่ ซึ่งในกรณีของอุระเซนเกะ คือรุ่นชิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสามสำนัก ก็จะใช้รุ่นขะสึโหะ ในการฝึกซ้อม ทำให้รุ่นนี้ขายดีที่สุด หาง่ายที่สุด เวลาร้านรวงต่างๆสั่งจากช่างฝีมือ ช่างก็มักจะเชียร์รุ่นนี้มากที่สุด เพราะทำไว้เยอะ ฝึกฝีมือไว้เยอะ ไม่ต้องเปิดตำราทำเหมือนรุ่นยากๆ ซึ่งของจีนที่ทำออกมา ก็จะเลียนแบบรุ่นนี้ไว้เยอะเช่นเดียวกัน
.
ถ้าใครชอบความสวยงามแบบอื่น ก็สามารถเลือกรุ่นอื่นได้ แต่ขอบอกเลยว่า มันหายากมากกกกกก ที่ญี่ปุ่น “แทบจะไม่มีขาย” ครับ ด้วยความที่ตลาดถูกกลืนไปด้วยรุ่นชินกับขะสึโหะเรียบร้อยแล้ว แถมสำนักชงชาที่ใช้รูปทรงหายาก ก็มีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ก็จะสั่งกับช่างฝีมือโดยตรง เป็น made to order ที่จะทำขึ้นมาเฉพาะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ร้านขายอุปกรณ์ชงชาจะต้องสั่งทำแล้วนำมาวางไว้หน้าร้านของตน เพราะลูกศิษย์ลูกหาของสำนักชงชาที่ใช้ฉะเซ็นรูปทรงแปลกๆเช่นนี้มีอยู่จำนวนน้อยมากๆ และก็มักจะสั่งจากช่างฝีมือเองทั้งหมด
.
KYOBASHI chiang rai
Fฺacebook Fanpage : รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE: @kyobashi.tea
SHOPEE: https://shp.ee/2g542sh
LAZADA: lazada.co.th/shop/kyobashi-tea
.
4 Comments