ต้นชา คือพืชที่อยู่ในสกุลคาเมลเลีย (Camellia) วงศ์ชา (Theaceae อ่านว่า ธีเอซี) ต้นชาก็เหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ คือมีหลากหลายสายพันธุ์ที่สามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆได้อย่างมากมาย โดยทั่วไปแล้วเป็นที่รับรู้กันว่าต้นชามีอยู่สองสายพันธุ์ใหญ่ๆ คือสายพันธุ์จีนและสายพันธุ์อัสสัม สายพันธุ์จีนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var sinensis ส่วนสายพันธุ์อัสสัมมีชื่อว่า Camellia sinensis var assamica
.
ชาทั้งหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาแดงหรือชาดำ และชาหมักที่ต้องเก็บไว้หลายปีก่อนนำมาชงดื่ม ล้วนแล้วแต่ถูกผลิตมาจากต้นเดียวกัน กล่าวคือ หากสวนหลังบ้านเรามี ต้นชา ขึ้นอยู่ ใบชานั้นก็สามารถถูกนำผลิตเป็นชาได้ทุกประเภท ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้กระบวนการออกซิเดชั่นในใบชาพัฒนาขึ้นไปถึงระดับไหน จริงอยู่ที่ต้นชาบางต้นนั้นเหมาะสำหรับทำชาบางประเภทเพียงอย่างเดียว จนบางทีก็สามารถแย้งได้ว่าชาวอังกฤษอาจจะมีความเข้าใจที่ถูก อย่างเช่นต้นชาบางสายพันธุ์อาจจะเหมาะสำหรับทำชาอู่หลง ในขณะที่บางสายพันธุ์อาจจะเหมาะสำหรับทำชาเขียวเท่านั้น ทว่าหากพิจารณาตามเกณฑ์การแยกประเภทของชาแล้ว ชาต่างชนิดนั้นถูกแบ่งตามระดับของการเกิดออกซิเดชั่นในใบชา หาได้เกิดจากสายพันธุ์ต่างๆของต้นชาไม่
.
ดังที่อธิบายไว้ว่าโดยทั่วไปแล้วเรารับรู้กันว่าต้นชามีอยู่สองสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์จีนและสายพันธุ์อัสสัม มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงมีต้นชาสองสายพันธุ์ ทฤษฎีแรกกล่าวว่า (Isobuchi, 2005) แรกเริ่มเดิมทีต้นชาคือพืชท้องถิ่นที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามภาคใต้ของจีนและภาคเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทฤษฎีนี้ระบุว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวคือจุดกำเนิดของต้นชา ซึ่งเมื่อต้นชาเกิดการขยายพันธุ์ขึ้นไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่างก็เกิดการปรับตัวเพื่อให้มีลักษณะเข้ากับสภาวะภูมิอากาศ การปรับตัวนี้เกิดขึ้นในต้นชารุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยลักษณะเด่นที่ส่งผลให้ต้นชาอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมก็ถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูก ทำให้ต้นชาที่เติบโตในสภาวะแวดล้อมต่างกันมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปเรื่อยๆ ทฤษฎีนี้เน้นย้ำถึงเรื่องของวิวัฒนาการ โดยกล่าวว่าต้นชาที่กระจายจากเขตพื้นที่ภาคใต้ของจีนที่มีอากาศอบอุ่นขึ้นไปทางเหนือจะประสบกับสภาวะอากาศที่หนาวเย็นกว่า มีแสงแดดน้อยกว่า และปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า ต้นชาที่เติบโตในสภาพแวดล้มเช่นนี้ต้องปรับตัวให้มีใบที่มีขนาดเล็กลงเพื่อความอยู่รอด กระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นผ่านระยะเวลาอันยาวนาน อาจจะเป็นหมื่นหรือเป็นแสนปี ดังนั้นต้นชาที่กระจายตัวอยู่ตามภาคตะวันออกของจีนจึงเป็นสายพันธุ์ใบเล็ก ลำต้นมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม เนื่องจากต้นชาต้องปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสภาวะที่ทรหดกว่า สายพันธุ์ดังกล่าวนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของต้นชาสายพันธุ์จีน
.
ในทางกลับกัน ต้นชาที่ขยายพันธุ์ไปทางทิศตะวันตกจะเข้าสู่เขตร้อนชื้นที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบ มีความชื้นสูง ฝนตกชุก อากาศอบอุ่น และได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ต้นชาที่ขึ้นในแถบนี้จึงวิวัฒนาการตนเองให้มีลักษณะใบที่มีขนาดใหญ่และหนา กอปรกับสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ต้นชาสายพันธุ์นี้จึงมีลำต้นสูงใหญ่ สามารถเจริญเติบโตได้สูงหลายสิบเมตร นี่คือคำอธิบายเชิงวิวัฒนาการถึงต้นกำเนิดของต้นชาสายพันธุ์อัสสัม
.

ไร่ชาสายพันธุ์ญี่ปุ่น ในจังหวัดชิซึโอะกะ เป็นไร่ชาที่ปลูกชาให้เราครับ
ในขณะที่ทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้น ได้ทำการสรุปว่าความแตกต่างระหว่างต้นชาสายพันธุ์จีนและสายพันธุ์อัสสัมนั้นเป็นผลพวงจากวิวัฒนาการ ทฤษฎีที่สองระบุว่าแท้จริงแล้วต้นชาทั้งสองสายพันธุ์นั้น ต่างฝ่ายต่างอยู่ในพื้นที่ของตนเองมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว จะมีก็แต่ลูกผสมที่เกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กัน จนเกิดเป็นลูกผสมที่มีลักษณะเป็นพันธุ์อัสสัมแต่มีรหัสพันธุกรรมที่กระเดียดไปทางสายพันธุ์จีน ทฤษฎีนี้กล่าวว่าสายพันธุ์จีนนั้นเป็นพืชท้องถิ่นที่กระจายตัวอยู่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก ส่วนพันธุ์อัสสัมก็เป็นพืชพื้นเมืองที่กระจายตัวอยู่ในอินเดีย เมื่อสองสายพันธุ์นี้ผสมพันธุ์กันก็เกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่กระจายตัวอยู่ตามภาคเหนือของพม่า ไทย ลาว และในมณฑลยูนนานของจีน
.
ข้อถกเถียงเรื่องจุดกำเนิดของ ต้นชาและความแตกต่างของสายพันธุ์นี่เองที่ทำให้เกิดงานวิจัย สอดคล้องกับงานวิจัยที่ทำการศึกษาดีเอ็นเอของต้นชาที่เก็บมาจากกลุ่มตัวอย่างในจีนและอินเดีย (Meegahakumbura et al, 2018) พบว่าต้นชาสายพันธุ์จีนและอัสสัมนั้นได้มีจุดเริ่มที่แยกออกจากกันเป็นคนละสายพันธุ์เมื่อราว 22,000 ปีก่อน โดยสายพันธุ์อัสสัมนั้นยังได้แยกออกเป็นสายพันธุ์อัสสัมที่พบในอินเดีย กับสายพันธุ์อัสสัมที่พบในยูนนาน ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งสองสายพันธุ์นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสองสายพันธุ์นี้ก็ได้มีจุดหักเหที่แยกออกไปเป็นคนละสายพันธุ์เมื่อราว 2,770 ปีก่อน
.

ต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย อายุราว 700-800 ปี บนดอยวาวี จังหวัดเชียงราย เป็นต้นชาที่อยู่ระหว่างสายพันธุ์อัสสัมและจีน ชาวล้านนาในอดีตนิยมนำใบไปทำเมี่ยง
กระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าพื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดของต้นชาครอบคลุมบริเวณภาคใต้ของจีน ซึ่งก็คือมณฑลยูนนาน ลากยาวไปถึงภาคเหนือของพม่า ไทย และลาว โดยต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในเขตของยูนนาน พม่า ไทย และลาวนั้น แม้จะเป็นสายพันธุ์ที่จัดอยู่ในประเภทของสายพันธุ์อัสสัม แต่ก็เป็นสายพันธุ์อัสสัมที่มีลักษณะกระเดียดไปทางสายพันธุ์จีน
.
จริงอยู่ที่สองสายพันธุ์นี้คือสายพันธุ์หลักๆที่มีการปลูกอยู่ทั่วโลก หากแต่ในความเป็นจริงนั้นทั้งสายพันธุ์จีนและอัสสัม ต่างก็สามารถแบ่งสายพันธุ์ออกเป็นหลายสายพันธุ์ย่อยได้อีกมากมาย เพราะพืชเองก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ คือเมื่อเกิดการผสมพันธุ์ขึ้น ลูกที่เกิดมาก็จะมีรหัสพันธุกรรมที่เกิดจากการผสมระหว่างพ่อและแม่ เกิดเป็นรหัสพันธุกรรมที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากสายพันธุ์จีนและอัสสัมแล้ว ยังมีพืชในตระกูลคาเมเลียสายพันธุ์อื่นที่สามารถนำมาทำชาได้เช่นกัน เช่น Camellia taliensis สายพันธุ์ชาพื้นเมืองของมณฑลยูนนาน คนจีนเรียกกันว่าต้าลี่ฉา เป็นสายพันธุ์ชาใบใหญ่ นิยมนำมาทำชาผูเอ่อ
.

โมเดลจากงานวิจัยของ Meegahakumbura et al (2018) เป็นโมเดลที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติมากที่สุด จากโมเดล สามารถคาดคะเนได้ว่า ต้นชาแยกออกเป็นสายพันธุ์จีนกับอัสสัมเมื่อ 22,000 ปีก่อน จากนั้นตัวอัสสัม ก็ได้แยกออกเป็นอัสสัมแบบจีน(ในยูนนาน) กับอัสสัมแบบอินเดีย(ในอินเดีย) เมื่อราว 2,770 ปีก่อน ต้นชาในไทยกับพม่า(ต้นเมี่ยง,เหมี้ยง) เป็นแบบอัสสัมแบบจีนครับ
ภาพประกอบ :
(1) ใบชาพันธุ์ฝูติ่งต้าไป๋ สายพันธุ์ที่ถูกจดทะเบียนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน พันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของเมืองฝูติ่ง มณฑลฝูเจี้ยน เป็นสายพันธุ์ที่ใช้สำหรับทำชาขาวโดยเฉพาะครับ
.
(2) ไร่ชาสายพันธุ์ญี่ปุ่น ในจังหวัดชิซึโอะกะ เป็นไร่ชาที่ปลูกชาให้เราครับ
.
(3) ต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย อายุราว 700-800 ปี บนดอยวาวี จังหวัดเชียงราย เป็นต้นชาที่อยู่ระหว่างสายพันธุ์อัสสัมและจีน ชาวล้านนาในอดีตนิยมนำใบไปทำเมี่ยง
.
(4) โมเดลจากงานวิจัยของ Meegahakumbura et al (2018) เป็นโมเดลที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติมากที่สุด จากโมเดล สามารถคาดคะเนได้ว่า ต้นชาแยกออกเป็นสายพันธุ์จีนกับอัสสัมเมื่อ 22,000 ปีก่อน จากนั้นตัวอัสสัม ก็ได้แยกออกเป็นอัสสัมแบบจีน(ในยูนนาน) กับอัสสัมแบบอินเดีย(ในอินเดีย) เมื่อราว 2,770 ปีก่อน ต้นชาในไทยกับพม่า(ต้นเมี่ยง,เหมี้ยง) เป็นแบบอัสสัมแบบจีนครับ
.
.
References
.
磯淵猛, 一杯の紅茶の世界史, 文藝春秋, 2005
.
.
Meegahakumbura, M.K., Wambulwa, M.C., Li, M.M., Thapa, K.K., Sun, Y.S., Möller, M., Xu, J.C., Yang, J.B., Liu, J., Liu, B.Y. and Li, D.Z., 2018. Domestication origin and breeding history of the tea plant (Camellia sinensis) in China and India based on nuclear microsatellites and cpDNA sequence data. Frontiers in plant science, 8, p.2270.
.
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE: @kyobashi.tea
.
1 Comment