ที่ญี่ปุ่น มีเรื่องเล่าว่า ขนมไดฟุกุ มาจากขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า “อุซึระโมจิ” (鶉餅:うずらもち) หรือ “โมจินกกระทา” เพราะมีชิ้นใหญ่ ยาว และรูปร่างเหมือนนก
ในสมัยเอโดะ ปี 1771 (หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองได้ 4 ปี) ที่เมืองโคะกาว่า (เขตบุนเคียวของกรุงโตเกียวในยุคปัจจุบัน) ขนมโมจินกกระทา ได้ถูกปั้นให้มีขนาดเล็กลง และเพราะว่าไส้ทำจากถั่วแดงกวนผสมน้ำตาล ทำให้อยู่ท้องได้นาน จึงถูกเรียกว่า “ฮะระฟุโตะโมจิ” (腹太餅) แปลว่า โมจิที่ทำให้ท้องป่อง (腹:ท้อง, 太:ป่อง ขยาย, 餅:โมจิ) และ “ไดฟุกุโมจิ” (大腹餅) แปลว่า โมจิที่ทำให้ท้องโต (大:โต, 腹:ท้อง, 餅:โมจิ)
กาลเวลาผ่านไป เพื่อความเป็นศิริมงคล คนญี่ปุ่นก็ได้เปลี่ยนตัวอักษรคันจิ ของคำว่า ไดฟุกุ โดยเปลี่ยนตัว ฟุกุ (腹) ที่แปลว่า “ท้อง” ให้เป็นตัว ฟุกุ (福) ที่แปลว่า “โชคดี” และแล้ว…ตัวอักษรคันจิของคำว่า ไดฟุกุโมจิ ก็เปลี่ยนจาก 大腹餅 เป็น 大福餅 ทำให้ขนมไดฟุกุในปัจจุบัน มีความหมายว่า “โมจิที่ทำให้โชคดีมาก” นั่นเอง
KYOBASHI chiang rai