เมื่อมีการกล่าวถึงชาดำที่ถูกผลิตขึ้นมาเป็นตัวแรกของโลก ชื่อของแลปซางซูชอง (Lapsang Souchong) มักปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆเสมอ ว่ากันว่า ชาจีน ตัวนี้เกิดขึ้นจากการที่กองทหารในยุคหมิง ถือวิสาสะเข้าไปนอนพักในโรงเก็บใบชาของชาวบ้านในบริเวณถงหมู่กวน เทือกเขาอู่อี๋ซาน ในมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน รุ่งเช้าเมื่อทหารจากไป ชาวบ้านต้องเจ็บช้ำน้ำใจกับใบชาที่ถูกนอนทับเสียจนป่นปี้ ใบชาที่แต่เดิมตั้งใจไว้ว่าจะผลิตเป็นชาเขียว บัดนี้กลับถูกกองทหารนอนทับเสียจนสีของใบชากลายเป็นสีน้ำตาลหม่น ชาวบ้านถงหมู่กวนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำใบชาเหล่านั้นมาผึ่งให้แห้งโดยอาศัยความร้อนจากกองไฟที่ถูกเผาโดยไม้สนที่หาได้ในท้องถิ่น ใบชาที่ผลิตได้ถูกนำไปขายในราคาถูกแสนถูกให้กับร้านชาในเมือง เนื่องด้วยชาวบ้านเองก็มิกล้าที่จะลิ้มลองใบชาสีดำที่เคยเปื้อนคลาบเหงื่อไคลของทหารทั้งกองมาก่อน โดยหารู้ไม่ว่าจะมีผู้ได้ลิ้มลองและติดอกติดใจกับชาตัวใหม่นี้มากมาย
ในภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า “หลับซ่านสิวจ๋ง” เป็นต้นกำเนิดของ “แลปซางซูชอง”
ชาตัวใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า “正山小种 เจิ้งซานเสียวจ่ง” เป็นการแบ่งแยกตัวเองจากชาดำที่ถูกผลิตได้ในแหล่งอื่นโดยการกล่าวว่าชาของตนนั้นคือ “正山 เจิ้งซาน” อันมีความหมายว่า “ภูเขาที่แท้จริง” ซึ่งในนัยยะหนึ่งคือการสื่อว่าชาของตนคือของจริง มิใช่ของปลอม ในขณะที่คำว่า “小种 เสียวจ่ง” บ่งบอกถึงต้นชาพันธุ์ใบเล็กอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของต้นชาในท้องถิ่น ชาตัวเดียวกันนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “立山小种 ลี่ซานเสียวจ่ง” ในภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า “หลับซ่านสิวจ๋ง” เป็นต้นกำเนิดของ “แลปซางซูชอง” ตามความพยายามของชาวยุโรปที่ต้องการเลียนแบบการออกเสียงในภาษาจีน
นับจากปี 1604 ที่มีการส่ง “เจิ้งซานเสียวจ่ง” ออกไปขายยังยุโรปเป็นครั้งแรก มาจนถึงทุกวันนี้ก็นับเป็นระยะเวลากว่า 400 ปีแล้ว เจิ้งซานเสียวจ่งเป็นชาดำที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ในตอนที่ชาวบ้านถงหมู่กวนเจ็บช้ำน้ำใจกับใบชาป่นปี้ หอบนำกองใบชาสีน้ำตาลเหล่านั้นมาผึ่งให้แห้งข้างกองไฟ คงจะไม่ฉุกคิดเลยว่าการทำเช่นนี้จะเปรียบเสมือนการพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลก จากที่แต่เดิมชาวจีนดื่มเฉพาะชาเขียวกันมานับพันๆปี ชาดำตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดขึ้น ชาดำตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่ชาวยุโรปดื่มกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลังในช่วงระยะเวลาสี่ร้อยปีที่ผ่านมา ชาดำตัวเดียวกันนี้เป็นตัวเดียวกับที่ผลักดันให้จักรวรรดิอังกฤษริเริ่มการปลูกชาในอาณานิคมอินเดีย ชาดำตัวเดียวกันนี้เป็นตัวเดียวกับที่จุดชนวนให้อาณานิคมอเมริกาปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของอังกฤษ และชาดำตัวเดียวกันนี้เองที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสงครามฝิ่น จากการที่อังกฤษนำเข้าชาจากจีนมากเกินไปจนเหรียญเงินหมดประเทศ ซึ่งอังกฤษหาทางออกโดยการมอมเมาชาวจีนด้วยฝิ่น เมื่อจักรพรรดิจีนทรงห้ามการขายฝิ่น สงครามจึงบังเกิด จักรวรรดิอังกฤษและชาติยุโรปเป็นฝ่ายชนะในขณะที่ชาวจีนสิ้นเนื้อประดาตัว จักรพรรดิหลบหนีออกจากพระราชวังต้องห้ามและเกาะฮ่องกงก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
ข้อมูลข้างต้นคือข้อมูลที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ว่ากันว่าเจิ้งซานเสียวจ่งก็คือแลปซางซูชอง และแลปซางซูชองก็คือเจิ้งซานเสียวจ่ง ต่างกันก็เพียงแค่ชื่อ ตัวผมเองตอนที่ได้ยินเรื่องเล่านี้ครั้งแรก ก็เกิดความรู้สึกกระหาย ด้วยความที่เป็นคนชอบชาและชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ พอได้ยินแค่คำว่าชาดำตัวแรกของโลกก็เกิดความรู้สึกว่าต้องสรรหาชาตัวนี้มาชิมให้ได้ หากทว่าประสบการณ์ครั้งแรกก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากแลปซางซูชองที่ซื้อมาจากร้านชา Mariage Freres นั้นกลิ่นไม่พิศมัยเอาเสียเลย ไม่ว่าชาวยุโรปจะสรรเสริญแซ่ซ้องให้กับชาตัวนี้มากแค่ไหนแต่ผมก็ไม่อาจทำใจยอมรับชาตัวนี้ได้ หากพูดตามตรงส่วนตัวผมรู้สึกเหมือนกำลังดื่มชาที่แต่งกลิ่นโดยปลาแห้ง จะมีบ้างบางเวลาที่สามารถจินตนาการว่ากลิ่นนั้นคือกลิ่นของไม้สนได้อยู่ แต่หลังจากพยายามดื่มอยู่หลายครั้งผมก็หยุดดื่มชาตัวนี้ไป พร้อมกับคิดว่าชาดำตัวแรกของโลกก็ตัวแรกเถอะ แต่ถ้ากลิ่นอย่างนี้แล้วล่ะก็…ก็ขอพอแค่นี้แล้วล่ะกัน
ประสบการณ์ดังกล่าวฝังหัวผมมาหลายปี จนแม้เมื่อไปเมืองจีน เห็นป้ายติดว่า “正山小种 เจิ้งซานเสียวจ่ง” ผมก็นึกถึงแลปซางซูชองตัวที่ดื่มเมื่อหลายปีก่อน และด้วยความผะอืดผะอมดังกล่าวผมจึงเบือนหน้าหนีออกจากชาตัวนี้แทบทุกครั้ง หากแต่แล้วด้วยโชคชะตา เมื่อครั้งไปงานชาเอ็กซ์โปที่เซี่ยงไฮ้ ด้วยความอยากรู้ผมกลับลองคว้าชาเจิ้งซานเสียวจ่งมาลองดมดู ยอมรับตามตรงว่าตอนเอาใบชามาใกล้จมูก ความรู้สึกแหยก็ยังมีอยู่ แต่พอถึงเวลาสูดดมกลิ่นเข้าไปกลับต้องแปลกใจ เพราะกลิ่นปลาแห้ง หรือกลิ่นยาสูบตามที่บางคนได้กลิ่น จากชาตัวที่ชื่อว่า “แลปซางซูชอง” ผมกลับไม่ได้กลิ่นนี้จาก “เจิ้งซานเสียวจ่ง” เลย
เมื่อนั้นแหละที่ผมเริ่มรู้สึกเอะใจ ว่าถ้าหากเจิ้งซานเสียวจ่งกับแลปซางซูชองคือชาตัวเดียวกันแล้ว ทำไมกลิ่นและรสชาติจึงได้ต่างกันเช่นนี้ ความรู้สึกสงสัยของผมยิ่งทวีคูณเมื่อได้ลิ้มลองแลปซางซูชองของยุโรปยี่ห้ออื่นๆ เมื่อนั้นแหละที่ผมตัดสินใจแล้วว่า ชาสองตัวนี้ไม่ใช่ตัวเดียวกันอย่างแน่นอน
และด้วยความอยากรู้ผมจึงเริ่มสืบ…
กรรมวิธีอันละเมียดละไมนี้ส่งผลให้ชาที่ได้มีกลิ่นหอมไฟแบบนุ่มนวล
เมื่อหาอ่านข้อมูลจากทั้งภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ผมจึงรู้ว่า เจิ้งซานเสียวจ่งและแลปซางซูชองนั้น จะเรียกว่าเป็นชาตัวเดียวกันก็ไม่ใช่…คนละตัวก็ไม่เชิง แรกเริ่มเดิมทีนั้น เจิ้งซานเสียวจ่งคือชาดำที่ถูกผลิตขึ้นมา เป็นครั้งแรก เจิ้งซานเสียวจ่งตัวนี้เองคือตัวที่ทำให้ชาตัวนี้มีชื่อเสียงในประเทศจีน หากแต่ในสมัยก่อนนั้น คนจีนมีความคิดฝังหัวว่า ของที่ผลิตได้ในเมืองจีนคือของที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก วิทยาการของเมืองจีนในยุคนั้นก็คือวิทยาการที่เยี่ยมที่สุดในโลก ดังนั้นคนจีนจึงมีสิทธิ์ใช้ของที่ผลิตในจีนได้เพียงเท่านั้น คนชาติอื่นไม่มีสิทธิ์ หากต้องการใช้ก็ควรเป็นของที่มีคุณภาพรองลงมา ชาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
หากศึกษาประวัติศาสตร์ของชาโดยเฉพาะยุคที่มีการนำเข้าชาจากจีนไปยังยุโรป จะพบว่า ชาจีน ส่งไปขายยังยุโรปนั้นคือชาเกรดต่ำ เนื่องด้วยชาวจีนคิดว่าชาวยุโรปไม่ควรค่าแก่การดื่มชาคุณภาพดีเฉกเช่นชาวจีน ด้วยเหตุนี้เอง เจิ้งซานเสียวจ่งในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไปจึงถือกำเนิดขึ้น
ตามกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมนั้น เจิ้งซานเสียวจ่งถูกผลิตด้วยการเก็บยอดอ่อนของชาในฤดูใบไม้ผลิ นำมาผึ่งไล่ความชื้นและนวดหมัก ก่อนนำมาผ่านกรรมวิธีทำให้ชาแห้งโดยการผึ่งใบชาบนกระด้งไม้ไผ่ แล้วอบรมด้วยควันจากฟืนต้นสนที่จุดเผาในอุณหภูมิต่ำ (cold smoke) กรรมวิธีอันละเมียดละไมนี้ส่งผลให้ชาที่ได้มีกลิ่นหอมไฟแบบนุ่มนวล รสชาติของชานุ่มลิ้นม้วนตัวกลมอยู่ในปาก ตามตำนานเล่าว่าใบชาที่เก็บจากต้นชาบริเวณหมู่บ้านถงหมู่กวน เทือกเขาอู่อี๋ซานนั้นจะมีลักษณะพิเศษคือเจือด้วยกลิ่นของลำไย
ในขณะที่เจิ้งซานเสียวจ่งที่ส่งไปขายยังยุโรปนั้นถูกผลิตด้วยกรรมวิธีที่ต่างออกไป เจิ้งซานเสียวจ่งที่ชาวจีนส่งไปขายยังยุโรปนั้นถูกผลิตขึ้นหลังจากการผลิตเจิ้งซานเสียวจ่งเพื่อดื่มกันภายในประเทศเสร็จสิ้นลงแล้ว เจิ้งซานเสียวจ่งที่ขายให้ชาวยุโรปนั้นชาวจีนใช้ใบชาเกรดรองลงมา ซึ่งก็คือใบชาที่ใหญ่กว่าและแก่กว่า เมื่อนำใบชามาหมักแล้วจะนำไปทำให้แห้งโดยการรมด้วยควันไม้สนที่เผาด้วยไฟอุณหภูมิสูง (hot smoke) กรรมวิธีแบบนี้ส่งผลให้ใบชาที่ได้ดูดซับกลิ่นและรสชาติของควันมากกว่ากรรมวิธีการผลิตแบบแรก ใบที่แก่กว่าและไฟที่แรงกว่าส่งผลให้เจิ้งซานเสียวจ่งเกรดส่งออกตัวนี้มีรสชาติที่แรงและกลิ่นที่ฉุนจมูก
เจิ้งซานเสียวจ่งตัวที่สองนี้เองที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวยุโรป และก็เป็นตัวเดียวกันกับที่เรียกขานกันมาตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีว่าแลปซางซูชอง (Lapsang Souchong)
เจิ้งซานเสียวจ่งที่ถูกผลิตขึ้นตามกรรมวิธีแบบแรกนั้นถูกขายอยู่ในเฉพาะประเทศจีน ในขณะที่เจิ้งซานเสียวจ่งที่ถูกผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบที่สองนั้นจะเป็นที่คุ้นเคยกันในประเทศตะวันตกเสียมากกว่า
ในปัจจุบัน คำว่า Souchong หมายถึงใบชาเกรดต่ำ ซึ่งก็คือใบชาใบใหญ่ที่อยู่รองลงมาจากหนึ่งยอดสองใบ แรกเริ่มเดิมที คำว่า Souchong อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เสียวจ่ง” ในภาษาจีนอย่างที่เล่าขานกัน หากแต่ความหมายโดยแท้จริงไม่ได้หมายถึงชาพันธุ์ใบเล็กอย่างที่คำว่า “เสียวจ่ง” ในภาษาจีนมั่นหมายจะสื่อ หากแต่หมายถึงเจิ้งซานเสียวจ่งเกรดรองที่ชาวจีนส่งขายให้ชาวยุโรปต่างหาก เพราะเจิ้งซานเสียวจ่งที่ผลิตเพื่อการส่งออกนั้นถูกผลิตขึ้นจากใบชาใบใหญ่
ตอนที่ได้ยินเป็นครั้งแรกว่าจินจวิ้นเหมย ชาดำที่โด่งดังที่สุดของเมืองจีนในขณะนี้คือชาที่พัฒนาขึ้นมาจากแลปซางซูชอง ผมแทบไม่เชื่อหู เพราะชาสองตัวนี้ทั้งรสและกลิ่นแตกต่างกันมาก จนไม่อาจคิดได้ว่าตัวหนึ่งจะเป็นบรรพบุรุษของอีกตัว
แต่ถ้าหากเปลี่ยนคำพูดใหม่ โดยกล่าวว่า เจิ้งซานเสียวจ่ง เป็นบรรพบุรุษของ จินจวิ้นเหมย อย่างนี้แล้วผมเชื่ออย่างไร้ข้อกังขา เพราะจินจวิ้นเหมยและเจิ้งซานเสียวจ่งมีความละม้ายกคล้ายคลึงกันอย่างบอกไม่ถูก จนเรียกได้ว่า ทั้งสองตัวนี้ต่างคือพ่อและลูก ปู่และหลานก็ว่าได้
ในปัจจุบัน เจิ้งซานเสียวจ่งสามารถหาได้ทั่วไปในเมืองจีน เรียกได้ว่าเป็นชาดำพื้นฐานสมกับตำแหน่งชาดำตัวแรกของโลกเสียจริง
Facebook Fanpage : รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE SHOPPING : @kyobashi.tea
KYOBASHI Chiang Rai
1 Comment