ชาอู่หลง แบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทใหญ่ๆ ตามแหล่งกำเนิด ภาษาจีนเรียกว่า ซื่อต้าอู่หลง 四大烏龍 ได้แก่ กว่างตงอู่หลง หมินหนานอู่หลง หมินเป่ยอู่หลง และ ไถวันอู่หลง
ชาอู่หลง กว่างตง 廣東烏龍
กลุ่มแรก ชาอุ๋หลง กว่างตง 廣東烏龍 คืออู่หลงจากมณฑลกวางตุ้ง รู้จักกันทั่วไปในนามของ เฟิ่งหวงตันฉง 鳳凰單叢 พื้นที่ปลูกอยู่บนภูเขาเฟิ่งหวง ตั้งแต่ความสูงระดับ 100-200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไปจนถึงความสูง 1,391 เมตร ระดับการหมักจะอยู่ในระดับกลางไปจนถึงสูง ส่วนระดับการอบไฟจะอยู่ตั้งแต่อบไฟต่ำไปจนถึงระดับกลาง
.
เอกลักษณ์ของชากลุ่มตันฉงคือ จะใช้ชื่อของสายพันธุ์ต้นชาในการตั้งช่ือใบชาแห้ง ซึ่งหากย้อนไปถึงต้นกำเนิดของคำว่าตันฉง ก็ต้องอธิบายก่อนว่าคำว่าตันฉง 單叢 หมายถึงกลุ่มก้อนของต้นชากลุ่มหนึ่ง ซึ่งในอดีตนั้นมนุษย์เราขยายพันธุ์ต้นชาโดยการเพาะเมล็ด ต้นชาเป็นพืชสมบูรณ์เพศ หมายถึงในดอกชาดอกเดียวมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย ดังนั้นจึงสามารถผสมพันธุ์เองโดยใช้เกสรจากต้นชาต้นเดียวได้โดยไม่ต้องอาศัยต้นชาต้นอื่น (ต้นไม้อื่นอย่างอินทผลัมนั้นจะแยกเพศกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย หากมีต้นอินทผลัมอยู่ทั้งหมดสิบต้นแต่ทุกต้นเป็นเพศเมีย ก็หมายความว่าการผสมเกสรจนเกิดเป็นเมล็ดจะไม่เกิดขึ้นเลย) การผสมเกสรของต้นชานี้ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกชาที่เฟิ่งหวงนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ต้นชาที่ถูกปลูก หรือบ้างขึ้นเองตามธรรมชาติ มักจะมีความสัมพันธ์ทางพันธุศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน ต้นชาเหล่านี้ เมื่อนำมาผลิตใบชาแห้ง ก็จะให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างกันระหว่างต้นชาแต่ละกลุ่ม ชาวเฟิ่งหวงใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการตั้งชื่อต้นชาตามกลิ่นที่ผลิตออกมาได้ ซึ่งนอกจากจะใช้ชื่อดอกไม้ต่างๆแล้ว ก็ยังมีการใช้ชื่อพื้นที่ปลูก เข้ามาตั้งชื่อต่างๆเช่นกัน
.
สายพันธุ์ชาของเฟิ่งหวงนั้นมีมากมาย ที่โด่งดังก็เช่น ยาซื่อเซียง (รู้จักกันในนามตันฉงขี้เป็ด) จือหลันเซียง กุ้ยฮวาเซียง (กลุ่มของต้นชาที่ให้กลิ่นหอมคล้ายดอกหอมหมื่นลี้) เย่หลายเซียง (แปลว่า หอมราตรี รู้จักกันอีกชื่อในนาม หว่านยู่เซียง หรือ กลิ่นหอมหยกในตอนค่ำ เป็นการเปรียบเปรยกลิ่นของดอกไม้สีขาว ได้ชื่อนี้มาเนื่องจากหลังจากเริ่มกระบวนการเขย่าชาในตอนค่ำ กลิ่นหอมของใบชาจะระเหยออกมา) มี่หลันเซียง (กลิ่นหอมเคล้ากันระหว่างกลิ่นหวานของน้ำผึ้งและกลิ่นหอมของดอกกล้วยไม้) สือปี้เหยียน (กลุ่มต้นชาที่ขึ้นในบริเวณผาหิน ให้กลิ่นคล้ายลูกพีชและผลไม้เมืองร้อน) ชุนเสว่หยา (กลุ่มของต้นชาที่แตกยอดเร็ว ราวกลางเดือนมีนาคม คำว่าชุนเสว่หยา แปลว่า ยอดหิมะในฤดูใบไม้ผลิ) สุ่ยเซียนตันฉง (กลุ่มของต้นชาที่ให้กลิ่นคล้ายดอกสุ่ยเซียน)
ชาอู่หลง หมินหนาน 閩南烏龍
เถี่ยกวนอินจากอานชี
กลุ่มที่สอง ชาอู่หลง หมินหนาน 閩南烏龍 มีตัวแทนคือ ชาเถี่ยกวนอินของอานชี ฝูเจี้ยน พื้นที่ปลูกมีความสูงตั้งแต่ 300-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล สายพันธุ์ชาที่นำมาทำมีตั้งแต่พันธุ์เถี่ยกวนอิน หวงจินกุ้ย เปิ่นซาน เหมาเซี่ย เหมยจั้น ต้าเย่อู่หลง ไป๋หยาฉีหลัน ระดับของการหมักมีตั้งแต่ระดับอ่อนถึงกลาง ไปจนถึงระดับสูง ส่วนการอบไฟก็มีตั้งแต่การไม่อบเลย ไปจนถึงชาที่อบไฟแรง ลักษณะเฉพาะของชาที่นี่คือจะมีสิ่งที่เรียกว่า กวนอินยุ่น 觀音韻 หมายถึงกลิ่นเฉพาะของเถี่ยกวนอินที่หอมลึกลงไปในคอ แม้จะกลืนน้ำชาลงไปแล้ว แต่กลิ่นนั้นก็จะยังคงอยู่อย่างยาวนาน สามารถสัมผัสได้ในลมหายใจ
ชาอู่หลงมินเป่ย 閩北烏龍
อู่อี๋เหยียนฉา
กลุ่มที่สาม หมินเป่ยอู่หลง 閩北烏龍 มีชาที่ดังๆคืออู่อี๋เหยียนฉา โดยคำว่า คำว่าเหยียนฉานั้น แปลว่าชาหินผา ได้ชื่อนี้มาเนื่องจากบริเวณที่เป็นแหล่งปลูกชาอยู่ในเขตอู่อี๋ซาน ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน อู่อี๋ซานคือพื้นที่ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยหินผา และธารน้ำ สวนชาบางแห่งถูกปลูกแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างซอกหน้าผา ในขณะที่ต้นชาบางต้นก็ยืนต้นอยู่บนหน้าผาสูงชัน ชาจากอู่อี๋ซานจึงมักได้รับการบอกเล่าต่อกันมาถึงลักษณะเฉพาะอันพิเศษของพื้นที่ปลูก เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างแร่ธาติจากผาหินลงสูงพื้นที่ปลูกชาเบื้องล่าง ซึ่งสุดท้ายแล้วต้นชาก็จะซึมซับแร่ธาตุเหล่านั้นเข้าไป ก่อให้เกิดสัมผัสอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือน ที่เรียกกันว่า เหยียนยุ่น 岩韻 หมายถึงกลิ่นและรสชาติติดลิ้นที่ยังคงอยู่ในโพรงจมูกและปลายลิ้นแม้เมื่อจะหยุดดื่มชาไปแล้ว สัมผัสนี้เชื่อกันว่ามีอยู่เฉพาะในชาจากอู่อี๋ซาน และเนื่องจากอู่อี๋ซานมีอากาศที่ชื้น มีฝนตกมาก ชาที่นี่จึงจะถูกหมักนาน และอบไฟนาน ฤดูการเก็บชาที่นี่คือเดือนพฤษภาคม เมื่อผลิตชาได้ ใบชาก็จะถูกนำไปอบไฟซ้ำหลายรอบ หากเป็นชาที่อบไม่นาน และถูกนำไปแข่งในงานประกวดซึ่งมักจะถูกจัดขึ้นเดือนสิงหาคม ก็จะถูกอบไฟที่ไม่นานนัก แต่ถ้าหากเป็นชาที่ต้องการอบไฟหลายรอบ ก็จะถูกอบไฟแล้วนำไปพักไว้ นำมาอบต่อ ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ โดยทิ้งช่วงห่างกันหลายเดือน ซึ่งพออบไฟเสร็จ ก็ต้องทิ้งชาไว้อีกหลายเดือนเพื่อให้ถอนกลิ่นไฟ ดังนั้นแล้ว สำหรับชาอู่อี๋ กว่าจะได้ดื่ม ก็ต้องรอกันข้ามปีเลยทีเดียว
.
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกชาอู่อี๋นั้นไม่ได้สูงมาก พื้นที่ปลูกที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างหนิวหลันเคิงนั้น อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 200 กว่าเมตร ในขณะที่ผาหัวม้า หรือหม่าโถวเหยียน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 400 เมตร สายพันธุ์ชาที่ถูกปลูกในอู่อี๋ซาน มีมากถึงหลักร้อยสายพันธุ์
ชาอู่หลงไถวัน 臺灣烏龍
กลุ่มที่สี่ ไถวันอู่หลง 臺灣烏龍 รู้จักกันในนาม ชาอู่หลง ไต้หวัน มีพื้นที่ปลูกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,500 กว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล ผลิตชาอู่หลงหลากหลายรูปแบบ โดยได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ไต้หวันก็ได้พัฒนากรรมวิธีการผลิตชาอู่หลงของตนเองขึ้น โดยชาอู่หลงที่ผลิตขึ้นในไต้หวันจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากชาอู่หลงจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน ข้อแตกต่างนี้ยังรวมถึงสายพันธุ์ชา ที่ทางไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเป็นของตนเองเช่นกัน เช่น พันธุ์จินเชวียน พันธุ์หงยู่ พันธุ์ชุ่ยยู่ พันธุ์ซื่อจี้ชุน รวมถึงมีการนำสายพันธุ์ชาจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาปลูกตั้งแต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน เช่น เถี่ยกวนอิน โฝโส่ว อู่อี๋ เหมยจั้น สุ่ยเซียน ชิงซินอู่หลง เป็นต้น
.
.
คุณภาพของ ชา ตอนที่ 1 : บอดี้ของ ชา
ชาอู่หลง จากพื้นที่ปลูกชาที่สูงที่สุดบนโลก
.
ร้านเรามีชาหลายประเภท ทั้งชาผลิตในประเทศเกรดส่งออก และชานำเข้า สามารถเลือกดูในร้าน หรือสอบถามกับทางทีมงานได้ทุกช่องทางครับ รู้เฟื่องเรื่องชา