“อิชิอุสุ” (石臼: Ishi-usu) คือ “ครกหินญี่ปุ่น” มีลักษณะเป็นหินทรงกระบอกสองชิ้น วางทับกัน โดยมีที่จับสำหรับหมุนที่หินด้านบน ใช้สำหรับบดอาหารจำพวกเมล็ดข้าว ธัญพืช และใบชา
อิชิอุสุ มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1400 ปี สมัยก่อน คนญี่ปุ่นแทบทุกครัวเรือนจะมีอิชิอุสุไว้ใช้ ทั้งบดเมล็ดข้าวเพื่อนำแป้งไปทำเส้นอุด้ง หรือบดถั่วเหลืองเพื่อนำไปทำเต้าหู้ โดยใส่อาหารที่ต้องการบดที่รูด้านบน แล้วหมุนครกไปมา ให้หินสองก้อนเสียดสีกัน และผงแป้งที่ได้ก็จะตกลงมาที่ถาดรอง
ชาเขียวมัทฉะที่เรารู้จักกัน ก็ได้จากการนำใบชา “เทนฉะ” มาบดครับ (หาอ่านเกี่ยวกับใบชาเทนฉะได้จาก status ก่อนๆ) แต่เนื่องจากความต้องการบริโภคมัทฉะในปัจจุบัน มีสูงกว่าแต่ก่อนมาก การผลิตจึงกลายเป็นอุตสาหกรรม ถ้าเป็นมัทฉะคุณภาพสูงๆ ผลิตจากใบชาชั้นเลิศ ประเภทราคากิโลกรัมละ 6-7 หมื่นบาทก็จะถูกบดโดยใช้แรงมนุษย์หมุนครกอิชิอุสุอยู่ แต่มัทฉะทั่วไปนั้น ถูกบดโดยอิชิอุสุที่ถูกพัฒนาให้หมุนด้วยพลังงานไฟฟ้าแล้วครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะหมุนด้วยแรงคนหรือพลังงานไฟฟ้า การบดมัทฉะโดยครกอิชิอุสุนั้น ถ้าหมุนโดยไม่หยุดพักเลย หนึ่งชั่วโมงจะได้ผงมัทฉะออกมาแค่ 40 กรัมเท่านั้น และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มัทฉะมีราคาแพง
การใช้ครกอิชิอุสุต้องใช้แรงเยอะ สมัยก่อน เวลาหนุ่มสาวจีบกัน ไปเที่ยวบ้านกัน แม่ฝ่ายหญิงจะให้ฝ่ายชายช่วยบดแป้งจากเมล็ดข้าว แล้วให้ฝ่ายหญิงเอาแป้งที่ได้ไปทำมันจู(ซาลาเปาญี่ปุ่นลูกเล็กๆ ไส้ทำจากถั่วแดงหรือเกาลัดกวน) เป็นวิธีการจีบ และเรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกันของคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนครับ
น่าเสียดาย ที่ปัจจุบัน บ้านญี่ปุ่นที่มีครกหินแบบนี้เหลืออยู่น้อยแล้วครับ อีกทั้งครกอิชิอุสุยังมีราคาแพงมาก โดยครกเล็กๆแบบในรูปข้างล่าง มีราคาตั้งแต่สองหมื่นถึงเจ็ดหมื่นกว่าบาท
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา