ใบชาประเภทต่างๆ มีสารอาหารอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต ซึ่งสารอาหารเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวกำหนด “รสชาติ” ของชา เช่น ชาที่มีกรดอะมิโนเยอะ ก็จะมีรสกลมกล่อม ชาที่มีสารแคทิซินเยอะ ก็จะมีรสฝาด และขม เป็นต้น
โดยสารอาหารดังกล่าว นอกจากจะมีปริมาณที่ต่างกันแล้ว ยังมีคุณสมบัติละลายในน้ำอุณหภูมิที่ต่างกันอีกด้วย ทำให้การศึกษาปริมาณของสารอาหารในชา จึงต้องควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจด้วยครับ ว่าสารอาหารแต่ละชนิดนั้น ถูกละลายในน้ำอุณหภูมิเท่าไร เพื่อเวลาเราชงชา จะได้ดื่มด่ำกับรสชาติของชาให้ได้มากที่สุด
เช่น ชาเขียวเกียวขุโระ เป็นชาที่มีปริมาณกรดอะมิโนสูง การจะชงชาเกียวขุโระให้ได้รสชาติดีที่สุดนั้น จะต้องดึงกรดอะมิโนออกมา โดยที่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้สารแคทิซิน ซึ่งเป็นสารให้ความขมและฝาดออกมา จึงต้องใช้น้ำที่อุณหภูมิระหว่าง 50-60 องศาเซลเซียส เพราะกรดอะมิโน จะเริ่มละลายออกมาในน้ำอุณหภูมิตั้งแต่ 50 องศา ในขณะที่สารแคทิซิน จะละลายออกมาที่น้ำอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศา เป็นต้น
จริงๆแล้ว ข้อมูลเรื่องอุณหภูมิน้ำ จะถูกเขียนไว้ที่แพ็คเกจของชาอยู่แล้วครับ แต่ก็มีชาบางยี่ห้อ ที่ผู้ผลิตไม่ได้เขียนอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ชงบอกไว้ การจดจำว่าชาแต่ละชนิด ควรใช้น้ำอุณหภูมิประมาณเท่าไรชง ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาเจอปัญหาแบบนี้ได้ครับ
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา