In Praise of Shadows (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “เยิรเงาสลัว” โดย openbooks) ของ ทะนิสะกิ จุนอิจิโระ หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความงามแบบตะวันออกได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
.
เครื่องเขิน แบบที่เรามักจะพบเห็นกันในวัฒนธรรมแบบล้านนาตามจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า ฉิกคิ 漆器 หรือ นุริโมะโนะ 塗物 หมายถึงงานฝีมือที่ทำจากไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้สน หรือไม้ไผ่ นำมาเคลือบด้วยยางรัก สี และโลหะมีค่าอย่างทองคำและเงิน ถูกใช้งานในญี่ปุ่นมากว่า 7,000 ปีแล้ว
.
เครื่องเขิน เป็นพาชนะที่ถูกพบได้ในญี่ปุ่นโดยทั่้วไป ตั้งแต่ชามใส่ซุป ตะเกียบ ไปจนถึงกล่องเบนโตะ ซึ่งถ้าหากเป็นเครื่องเขินจริงๆแล้ว วัสดุข้างในจะเป็นไม้ ถูกเคลือบด้วยยางรัก แต่ในปัจจุบันมีการทำพาชนะพลาสติกขึ้นมามากมายโดยการเคลือบสีให้เหมือนกับเครื่องเขิน ซึ่งอย่างหลังนี้ผมเชื่อว่าทุกท่านที่เคยไปร้านอาหารญี่ปุ่นจะต้องเคยซดน้ำซุปจากถ้วยสีดำสีแดงดูคล้ายกับถูกเคลือบด้วยยางรักแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น
.
เครื่องเขิน หรือ ฉิกคิ แบบนี้แหละครับ ที่ทะนิสะกิ จุนอิจิโร่กล่าวว่า เป็นวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยอัตลักษณ์และมุมมองต่อความงามของชาวตะวันออก
.
ทะนิสะกิกล่าวว่า ตะวันออกเราต่างกับตะวันตก ตรงที่บรรพบุรุษของเราเน้นการใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ รู้จักที่จะผสมผสานวิถีชีวิตส่วนตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรายรอบ เป็นการเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติ โดยไม่มุ่งเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือทำลายธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ หากแต่สำนึกและเรียนรู้ที่จะสำราญไปกับมัน
.
อย่างเช่นการสร้างบ้านเรือนของเอเชียในอดีต สังเกตได้ว่าจะเน้นการสร้างบ้านด้วยไม้เสียเป็นส่วนใหญ่ ประตูหรือช่องหน้าต่างต่างๆก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้รับแสงอาทิตย์ได้อย่างพอเหมาะในเวลากลางวัน ส่วนในกลางคืนเราก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับความมืดโดยไม่กระวนกระวายสรรหาแสงสว่างที่จะทำให้ทั้งห้องเจิดจ้าดั่งเช่นกลางวัน
.
ซึ่งการเรียนรู้ที่จะสัมผัสความงามจากเงามืดนี่แหละที่เป็นมุมมองทางด้านความงามของตะวันออกที่ต่างจากตะวันตก
.
เครื่องเขินของญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมองภายใต้แสงเทียนในยามค่ำคืน การตกแต่งด้วยทองคำเปลวหรือลวดลายสีเงินเส้นเล็กพริ้วนั้นแม้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตกแต่งลวดลายอย่างสมถะ แต่แท้จริงแล้วเป็นการตกแต่งเพื่อเล่นกับเปลวเทียนในยามค่ำคืน ลวดลายสีทองบนเครื่องเขิน เมื่อถูกส่องกระทบโดยแสงจากตะเกียง จะแลดูราวกับกำลังเต้นระบำอยู่บนพื้นยางรักสีดำ ซึ่งหากเพ่งมองดูยามกลางวัน ชาวตะวันตกอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดสิ่งของเครื่องใช้ของเอเชียซึ่งควรจะแลดูสวยงามกลับดูกระดำกระด่าง มีสีดำบ้างสีแดงน้ำตาลบ้าง แต่ในความเป็นจริงบรรพบุรุษของเราสร้างสรรค์มันออกมาในรูปแบบนั้นเพราะต้องการชื่นชมความงามภายใต้การนอบน้อมที่จะดื่มดำกับความจำกัดจำเขี่ยของแสงสว่างในยามค่ำคืนอันมืดมิดต่างหาก
.
ในภาพข้างล่างนี้คือกล่องเครื่องเขิน ที่ถูกเคลือบด้วยทองคำ ผมถ่ายมาจากพิพิธภันฑสถานแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น วัตถุที่ถูกจัดแสดงอยู่ในห้องนี้มีเพียงเครื่องเขิน ซึ่งเมื่อผมย่างเท้าก้าวเข้าไปฉับพลันก็นึกถึงหนังสือของทะนิสะกิ จุนอิจิโร่ทันที เพราะในห้องจัดแสดงเปิดไฟเพียงสลัว และท่ามกลางความมืดนั้นเครื่องเขินที่ดูขุ่นมัวภายใต้แสงสว่าง กลับส่องเจิดจรัสอย่างงดงามภายใต้แสงที่ถูกปรับแต่งให้เหมือนกับแสงเทียนและแสงตะเกียง และภายใต้บรรยากาศอันสลัวนั้นเอง ที่ผมได้กลับมาเรียนรู้ที่จะชื่นชมความงามแบบเอเชีย ความงามที่ทั้งนอบน้อมและถ่อมตน รู้จักที่จะโอนอ่อนไปตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และยอมรับวัฏจักรสังขารของการเกิดขึ้น มีอยู่ และดับไป อันเป็นโชคชะตาที่หนีไม่พ้นของสรรพสิ่ง
.
KYOBASHI chiang rai