ไผ่สึสึดาเกะ (煤竹)
ในสมัยก่อน บ้านญี่ปุ่นจะเป็นบ้านแบบหลังคาทำจากฟางหนาๆแบบที่เห็นตามเมือง Shiragawako โดยเพดานจะถูกทำจากไม้ไผ่ นำมามัดรวมๆกันเป็นแพ และปูลาดเป็นผืนยาว อย่างที่เห็นในรูป นอกจากนี้ บ้านคนญี่ปุ่นสมัยก่อน จะมีหม้อไฟ หรือเรียกว่า อิโนริ (囲炉裏) มีลักษณะเป็นหม้อแขวนลงมาจากเพดาน ส่วนตรงพื้นก็จะมีช่องสำหรับก่อกองไฟ เอาไว้สำหรับทำอาหารและให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกในครัวเรือนในฤดูหนาว เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีฮีทเตอร์
และตรงนี้แหละครับ ที่ขี้เถ้าจากอิโนริ จะลอยขึ้นไปเกาะกับไม้ไผ่ที่ถูกทำเป็นเพดานข้างบน พอผ่านไปสัก 100 กว่าปี สีของไม้ไผ่ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และกว่าจะได้สีน้ำตาลสวยๆนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากถึง 150-200 ปี จึงจะได้ไผ่เคลือบขี้เถ้าสีน้ำตาลสวย คนญี่ปุ่นเรียกไผ่แบบนี้ว่า “สึสึดาเกะ”
เวลารื้อถอนบ้าน ไม้แทบทุกส่วน คนญี่ปุ่นจะเก็บไว้นำไปรีไซเคิล โดยการนำไปขายต่อ เช่น ไม้บางชิ้นที่มีขนาดใหญ่ สำหรับทำจั่ว ก็อาจจะขายให้กับบริษัทสร้างบ้าน แต่ปกติ ไผ่สึสึดาเกะ คนญี่ปุ่นจะนิยมขายให้กับช่างฝีมือเพื่อนำไปประดิษฐ์เป็นงานฝีมือต่างๆเช่น กระเป๋าจักรสาน โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งบ้าน ฉะชะขุหรือช้อนไม้ไผ่สำหรับตักมัทฉะ ฯลฯ ซึ่งส่วนมากผลงานที่ถูกสร้างโดยไผ่สึสึดาเกะมักจะมีราคาแพง เนื่องจากใช้เวลานานกว่าไม้ไผ่จะเปลี่ยนสี และปัจจุบัน บ้านโบราณแบบนี้ก็มีเหลืออยู่น้อยแล้ว และที่มีอยู่ ก็สมควรอนุรักษ์ไว้ จึงไม่ค่อยมีการรื้อบ้านแบบนี้กันอีก
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของไผ่สึสึดาเกะคือ สีของไม้ไผ่ จะไม่ค่อยเรียบเสมอกันทั่วทั้งอัน เพราะส่วนของไม้ไผ่ที่ถูกเชือกมัด เวลาถูกนำไปทำเป็นเพดาน ก็จะไม่สัมผัสกับขี้เถ้าเลยตลอดระยะเวลา 100-200 ปี สีตรงส่วนนั้นจึงไม่เป็นสีน้ำตาลมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น เวลานำไผ่สึสึดาเกะมาทำเป็นช้อนฉะชะขุ แต่ละอันจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางท่านอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมสีมันไม่เท่ากัน ผมเลยอยากจะบอกว่า ตรงนี้แหละครับ คือความสวยงามของไผ่สึสึดาเกะ
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา