Four Season Tea ชาสี่ฤดู
เมื่อเร็วๆนี้ผมเริ่มค้นพบว่า เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของชาคือสายพันธุ์ที่มีค่อนข้างหลากหลาย เพราะเมื่อศึกษาลงลึกไปจริงๆ จะพบว่าสายพันธุ์ในปัจจุบันไม่ใช่มีแค่พันธุ์จีนหรือพันธุ์อัสสัม แต่ในสองสายพันธุ์หลักนี้ก็สามารถแยกย่อยได้อีกเป็นร้อยๆสายพันธุ์ ช่วงนี้นอกจากการเดินทางไปตามหาชาดีๆแล้ว เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการอ่านงานวิจัย หรือเดินทางไปสอบถามข้อมูลกับผู้รู้ที่มีความรู้จริงๆในเรื่องสายพันธุ์ชา และพบว่ายิ่งเสาะแสวงหามากเท่าไรก็ยิ่งพบว่ามีเรื่องที่ยังไม่รู้อีกมากเท่านั้น
.
ความโดดเด่นของสายพันธุ์ คือเอกลักษณ์ในด้านรสชาติ เนื่องจากเมื่อสายพันธุ์ดี ก็เท่ากับว่ามีสารตั้งต้นที่ดี หากตั้งใจทำชาแล้ว ทำแบบไหนออกมาก็อร่อย กลับกันถ้าสายพันธุ์ไม่ดีแล้ว ถึงพยายามดัดแปลงกรรมวิธีการผลิตอย่างไร รสชาติก็สู้สายพันธุ์ดีไม่ได้
.
ชาอู่หลงตัวนี้เป็นตัวหนึ่งที่หาไร่ทำออกมาดีได้ค่อนข้างยากเช่นกันครับ เพราะไม่ค่อยปลูกกันในเมืองไทย พื้นที่ปลูกมีเพียงไม่กี่ไร่ ชื่อพันธุ์ในภาษาจีนคือซื่อจี้ชุน 四季春 มีความหมายว่าสี่ฤดู เป็นสายพันธุ์ของไต้หวันที่นำสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของเกาะไต้หวัน คือพันธุ์ชิงชิน ผสมพันธุ์กับต้นชาตระกูลอู่อี๋ ที่นำมาจากฝูเจี้ยน ณ จีนแผ่นดินใหญ่ ออกมาเป็นต้นชา hybrid ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างเยอะ คือต้นชามีการแตกยอดที่สม่ำเสมอทั้งสี่ฤดู เนื่องจากพันธุ์ชิงชินเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีกลิ่นค่อนข้างหอม ใบเล็ก ส่วนพันธุ์ที่นำมาจากอู่อี๋เป็นพันธุ์ใบใหญ่ โดดเด่นด้วยรสอุมามิที่สูง รุ่นลูกที่ออกมาเป็นพันธุ์สี่ฤดูจึงมีกลิ่นที่โดดเด่น คือหอมคล้ายพันธุ์หร่วนจือ (ก้านอ่อน) แต่มีกลิ่นและรสในโทนของ fruity มากกว่า บวกกับความฝาดติดปลายลิ้น ทว่าดื่มแล้วชุ่มคอ
.
จากที่ลองทดสอบนำมาชงร้อนและเย็น พบว่าสามารถไปได้ดีกับการชงทั้งสองแบบครับ แน่นอนว่าการชงร้อนนั้นเป็นการชงแบบ traditional อยู่แล้ว ซึ่งชาตัวนี้ก็ทำออกมาได้ไม่มีที่ติ แต่ที่เห็นว่าโดดเด่นเหนือชาตัวอื่น แม้กระทั่งพันธุ์หร่วนจือ ก็คือเมื่อนำมาชงเย็น จะพบว่าชาอู่หลงที่ทำมาจากพันธุ์สี่ฤดูจะให้น้ำชาที่ body มีความสมดุล กล่าวคือน้ำที่ชงออกมาได้ไม่หนักจนเกินไป แต่ก็ไม่จืดจางจนเกินไป อยู่ในระดับพอดี (จากการทดลองแช่ทั้ง 4-6-12-18 ชั่วโมง) น้ำชาจะมีความขมน้อย แต่มีรสฝาดบางๆติดปลายลิ้น ในส่วนของอโรม่าจะมีกลิ่นที่ออกไปทางผลไม้จำพวกสัปปะรด นี่ไม่ได้หมายความว่าชาเปรี้ยวนะครับ แต่กลิ่นและรสชาติของชาจะสื่อไปในโทนนั้น คือมีความเป็นสัปปะรดโดดเด่นขึ้นมาตามด้วยผลไม้เมืองร้อนชนิดอื่นๆ โดยส่วนตัวเมื่อนำไป cold brew ตัวนี้เป็นชาที่ให้ความรู้สึกค่อนข้างสดชื่น ในขณะที่เมื่อนำไปชงร้อน จะให้ความรู้สึกที่ชุ่มคอ
.
KYOBASHI chiang rai