ชาที่มีบอดี้ คือชาที่มีเนื้อ คำว่ามีเนื้อนี้หมายความว่าเวลาดื่มน้ำชาเข้าไปแล้วจะสัมผัสได้ถึงความแน่นและความหนัก ในความเป็นจริงชาที่มีบอดี้ดีมากๆ เมื่อริมฝีปากได้สัมผัสกับน้ำชาครั้งแรกแล้วก็จะสัมผัสได้ถึงบอดี้ทันที เพราะน้ำมีความหนืด มีตัวตนที่รู้สึกได้ ไม่เบาหวิวเหมือนน้ำเปล่า บอดี้ของชาจะสัมผัสได้ดีที่สุดเมื่อน้ำชามีอุณหภูมิอยู่ที่ราว 50 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิน้ำชาสูงกว่านั้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อริมฝีปากในการสัมผัส ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชามีเนื้อก็คือคุณภาพของใบสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบชาที่เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ จะให้ชาที่มีบอดี้หนาแน่นที่สุด ชา ที่เก็บเกี่ยวในฤดูถัดๆมาจะมีคุณภาพที่ด้อยลง ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น พื้นที่ที่มีการผลิตชาคุณภาพดีมากๆอย่างจังหวัดเกียวโต จะเก็บเกี่ยวใบชาเพียงปีละหนึ่งครั้ง เพราะการผลิตชาเขียวจำเป็นต้องพึ่งคุณภาพของใบชาสดเป็นอย่างมาก และกระบวนการผลิตชาเขียวไม่มีขั้นตอนการปรุงแต่งรสกลิ่นของชาโดยใช้การหมักอย่างเช่นชาประเภทอื่นๆ อีกทั้ง ชาเขียว ยังเป็นชาที่ดื่มเพื่อลิ้มรสของใบชาสดๆที่เป็นรสของธรรมชาติ การใช้ใบชา ที่คุณภาพดีที่สุดจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ชาเขียว
ใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิให้ปริมาณของสารสำคัญมากที่สุด
ทั้งนี้ เคยมีการทำวิจัยที่ญี่ปุ่น โดยการวัดปริมาณสำคัญของใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละฤดู พบว่า ใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิให้ปริมาณของสารสำคัญมากที่สุด โดยปริมาณของสารสำคัญนั้นจะลดลงมาเรื่อยๆหากต้นชาต้นนั้นถูกเก็บเกี่ยวซ้ำรอบสองในฤดูร้อน และรอบสามในฤดูใบไม้ร่วง เป็นหลักฐานสำคัญว่าหากต้นชาถูกเก็บเกี่ยวใบชาบ่อยเกินไป คุณภาพของใบชาที่ถูกเก็บเกี่ยวในรอบหลังๆก็จะมีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ในหลายๆพื้นที่ที่ผลิตชาคุณภาพสูงของจีนและญี่ปุ่นจึงเก็บเกี่ยวใบชาเพียงครั้งเดียวในต้นฤดูใบไม้ผลิ
ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการมีบอดี้ของน้ำชา ก็คือ กระบวนการหมัก ชา
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาประเภทอื่นที่ต้องพึ่งพาการหมักอย่าง ชาแดง และ ชาอู่หลง เป็นที่แน่นอนว่าใบชาสดที่มีคุณภาพสูงย่อมเป็นสารตั้งต้นที่ดีกว่าใบชาคุณภาพต่ำ ทว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการมีบอดี้ของน้ำชา ก็คือ กระบวนการหมักชา
กระบวนการหมักชาเพื่อให้เกิดกลิ่นและรสชาติที่มีเอกลักษณ์มีขั้นตอนที่ซับซ้อน อีกทั้งแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงงานก็ยังมีกรรมวิธีการหมักที่ไม่เหมือนกัน ทว่าโดยหลักๆแล้ว การหมักชาอู่หลงให้เกิดกลิ่น ประกอบไปด้วยการผึ่งแดดอ่อน การผึ่งห้องเย็น และการเขย่า การผึ่งแดดอ่อนจะกระทำเพียงครั้งเดียวหลังจากส่งใบชาสดเข้าโรงงาน ขั้นตอนนี้เป็นการอาศัยแสงแดดในการให้ความร้อนเพื่อกระตุ้นน้ำให้ระเหยออกจากใบชา โดยปริมาณของแสงแดดมีความสำคัญอย่างมาก เพราะต้องเป็นแดดที่ไม่แรงหรืออ่อนจนเกิดไป ระยะเวลาในการผึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในการตัดสินใจ ผู้ผลิตชาบางรายกล่าวว่าใบชาที่ไม่ผ่านการผึ่งแดดจะไม่ส่งกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องเป่าลมร้อนเพื่อใช้ทดแทนการผึ่งใบชาใต้แสงแดดในบางพื้นที่ที่มีฝนตกชุก
หลังจากผึ่งแสงแดดเสร็จ ใบชาจะถูกลำเลียงเข้าสู่อาคารเพื่อนำไปผึ่งเย็น สำหรับชาอู่หลงนี่เป็นการพักใบชาเพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป โดยจะผึ่งใบชาเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนชาแดงนั้นจะผึ่งไว้นาน โดยมากจะผึ่งไว้ข้ามคืน
สำหรับชาอู่หลง หลังจากนั้นใบชาจะถูกนำไปเขย่า การเขย่าในรอบแรกจะกระทำเพียงเบาๆและน้อยครั้ง และหลังจากนั้นจะเพิ่มความรุนแรงของการเขย่ามากขึ้นรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการเขย่าก็จะนานขึ้น หลังจากเขย่าแต่ละรอบใบชาจะถูกนำไปผึ่งเย็นไปดังเดิม การผลิตชาอู่หลงจึงเป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูง ในอดีตหรือบางพื้นที่ในปัจจุบันยังคงใช้การเขย่าใบชาด้วยมืออยู่ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมากในการช่วยกันเขย่าใบชา ในปัจจุบันถึงแม้จะมีการผลิตเครื่องจักรเขย่าชาเพื่อทุ่นแรง แต่การผลิตชาอู่หลงก็ยังมีความซับซ้อนที่สุดและใช้แรงงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับชาประเภทอื่นๆ
ชา ที่หมักได้อย่างถูกต้อง ถึงจุดพอเหมาะ จะส่งผลให้ชานั้นมีรสและกลิ่นที่หอมหวาน
การผลิต ชาอู่หลง นั้น จะเขย่าชากี่รอบ และพักชากี่รอบ เป็นสูตรของชาอู่หลงแต่ละประเภท การผลิตชาอู่หลงประเภทชิงเชียง เช่น เปาจ่ง เกาซานอู่หลงของไต้หวัน จะใช้การเขย่าอย่างเบาๆและผึ่งชาเป็นระยะเวลานาน การเขย่ากระทำสูงสุดเพียงสามหรือสี่รอบ ดังนั้นใบชาจะไม่บอบช้ำมาก ในส่วนของการผลิตเหยียนฉาของอู่อี๋ซานจะใช้การเขย่าที่รุนแรงขึ้นและมีจำนวนครั้งมากขึ้น การผึ่งชาก็ใช้สูตรการผึ่งสั้นไปยาวและยาวไปสั้น กระบวนการที่แตกต่างกันเช่นนี้ส่งผลให้ชาอู่หลงแต่ละประเภทมีโปรไฟล์รสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การหมักชาเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ยากที่สุดในหมวดหมู่การผลิตชาทั้งหมด ชาที่หมักได้อย่างถูกต้อง ถึงจุดพอเหมาะ จะส่งผลให้ชานั้นมีรสและกลิ่นที่หอมหวาน การหมักชาอู่หลงนั้น แรกเริ่มจะให้กลิ่นหอมในโทนดอกไม้ คล้ายดอกกุหลาบ ดอกเก๊กฮวย ดอกหอมหมื่นลี้ เมื่อระดับการหมักมากขึ้นก็จะเริ่มได้กลิ่นผลไม้สุก ประเภทพีช แอปเปิ้ล ไปจนถึงกลิ่นกล้วยสุกฉ่ำๆ ในส่วนของชาแดงที่หมักอย่างสมบูรณ์สามารถก่อให้เกิดกลิ่นที่หลากหลาย ตั้งแต่กลิ่นเปลือกไม้ กลิ่นเครื่องเทศ หนังสัตว์ พืชตระกูลมิ้นต์ ชาที่ผ่านการหมักอย่างไม่ถูกต้องจะให้เกิดกลิ่นที่เปรี้ยวสาป มีกลิ่นเขียวหลงเหลืออยู่ ซึ่งการหมักอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้องนี้ในท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลต่อบอดี้ของชาอย่างเช่นกัน
การประเมินบอดี้ของน้ำชา สามารถแยกประเภทได้คร่าวๆ ดังนี้
ระดับที่ 1
ชา ที่แย่ที่สุด จะได้สัมผัสราวกับน้ำเปล่า ไม่มีบอดี้ ไม่มีเนื้อชา ดื่มเข้าไปแล้วไม่รับรู้ถึงความหนาแน่นและน้ำหนัก น้ำชาให้ความรู้สึกเบาหวิว อาจเกิดจากคุณภาพของใบชาสด เป็นใบชาที่เก็บเกี่ยวจากไร่ที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ในปีหนึ่งๆต้นชาต้นหนึ่งอาจถูกเก็บเกี่ยวมากถึง 5-6 รอบ อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลก็คือกระบวนการผลิต
ระดับที่ 2
น้ำชา มีความรู้สึกหนักของบอดี้เบาๆ สัมผัสได้ถึงเนื้อชาเบาๆ แต่ยังไม่แน่นหนามาก
ระดับที่ 3
หากน้ำชา มีบอดี้หนาแน่นขึ้นมา ก็จะอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าบอดี้ระดับปานกลาง
ระดับที่ 4
ชา ที่คุณภาพค่อนข้างดีจะเริ่มมีบอดี้ชาชัดเจน ให้ความรู้สึกเล็กน้อยถึงน้ำซุปข้นๆ เป็นเนื้อชาที่สัมผัสได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน ชาที่มีคุณลักษณะอย่างนี้ก็สามารถถูกกล่าวได้แล้วว่ามีบอดี้ที่ดี
ระดับที่ 5
บอดี้ที่หนาแน่นที่สุด มักปรากฎในชาระดับชนะรางวัล หรือชาจากไร่ชาที่มีการบำรุงรักษาอย่างดี ผลิตโดยอาจารย์ชามากประสบการณ์ ชาประเภทนี้จะให้บอดี้ที่แน่น สัมผัสได้ถึงเนื้อชา ชัดเจน ให้สัมผัสของน้ำซุปเข้มข้น ดื่มเข้าไปแล้วรู้สึกเต็มปากเต็มคำ น้ำชามีความหนืด ชาบอดี้ระดับนี้ดื่มแล้วให้ความรู้สึกพอใจอย่างถึงที่สุด
โดยทั่วไปแล้ว ชาที่หาได้ทั่วไปในตลาดทั่วโลกจะมีบอดี้ระดับที่ 1-3 หากสุ่มซื้อชาทั่วไปแล้วได้บอดี้ระดับ 3 ก็ถือได้ว่าโชคดีแล้ว บอดี้ระดับ 4 นั้นจะต้องเฟ้นเลือกโดยใช้ความพยายามอุตสาหะ ต้องรอจังหวะและอาจต้องใช้โชคช่วยด้วย อาจหาจากร้านชาประจำหรือเลือกจากโรงงานที่ไว้ใจ ขอเลือกดื่มจากล็อตที่ผลิตออกมาได้ดีๆ ในส่วนของบอดี้ระดับที่ 5 จะปรากฏในชาชนะรางวัลระดับสูงๆหรือชาราคาแพงๆที่ขายหมดตั้งแต่ช่วงต้นฤดู ชาประเภทนี้หายากมากและมีปริมาณจำกัด
สรุปสุดท้าย
การชงชา และ คุณภาพของน้ำที่ใช้ในการชงก็มีผลต่อบอดี้ของน้ำชาเช่นกัน โดยปกติ หากใบชานั้นเป็นใบชาที่มีคุณภาพดี การชงอย่างถูกต้องตามหลักการชงชาแต่ละประเภทก็จะสามารถชงน้ำชาออกมาได้ให้มีบอดี้ที่ดี ในส่วนของคุณภาพน้ำ แนะนำว่าใช้น้ำปกติ ที่ไม่ใช่น้ำกลั่นและน้ำแร่ จะชงชาออกมาได้มีรสชาติปกติอย่างที่ชาควรจะเป็นมากที่สุด การใช้น้ำกลั่นจะทำให้น้ำชามีรสชาติไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดแร่ธาตุในน้ำ ส่วนการใช้น้ำแร่ก็จะทำให้สัมผัสกับรสชาติบางมิติได้น้อยลงเพราะแร่ธาตุในน้ำที่มีมากเกินไป
2 Comments