เมียวอัน เอไซ ผู้ให้กำเนิด ชาญี่ปุ่น (明菴栄西 ค.ศ. 1141-1215) เกิดในบริเวณที่ปัจจุบันคือจังหวัดโอะคะยะมะ ทางภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เอไซเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ภูเขาเทียนไถ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เมื่ออายุยี่สิบเจ็ดปี ยามนั้นเขาทำการศึกษานิกายเทียนไถ ซึ่งได้มีการเผยแพร่อยู่แล้วที่ญี่ปุ่นในฐานะของนิกายเทนได (เสียงอ่านแบบญี่ปุ่น) เอไซเดินทางกลับญี่ปุ่นหลังจากทำการศึกษาได้หกเดือน โดยในปี ค.ศ.1187 เมื่ออายุได้ 46 ปี เอไซเดินทางกลับไปยังเมืองจีนอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำการศึกษาศาสนาพุทธต่อ ในครั้งนี้เขาได้ทำการเล่าเรียนธยาน (ภาษาสันสกฤต) หรือฌาน (ภาษาบาลี) ซึ่งถูกเรียกว่าฉาน ในภาษาจีน เป็นต้นกำเนิดของคำว่า เซน ในภาษาญี่ปุ่น โดยทำการเล่าเรียนที่สำนักหลินจี้
ก่อนการเริ่มต้นเดินทางของเมล็ดพันธุ์ ชาญี่ปุ่น
หลังจากร่ำเรียนที่เมืองจีนได้สี่ปี เอไซก็เดินทางกลับสู่ญี่ปุ่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1191 และทำการก่อตั้งสำนักรินไซขึ้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสำนักสาขาของสำนักหลินจี้ในประเทศจีน สำนักรินไซนี่เองที่เป็นหนึ่งในสามสำนักนิกายเซนหลักในญี่ปุ่น โดยอีกสองสำนักคือสำนักโซโต และสำนักโอบะขุ
ยามเมื่อเอไซเดินทางกลับญี่ปุ่นนั้นเป็นช่วงต้นของยุคคะมะกุระ (ค.ศ. 1185-1333) ในยุคนั้นศาสนาพุทธนิกายเทนไดมีอำนาจอยู่ค่อนข้างมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในราชสำนักที่เกียวโตซึ่งยังคงนับถือศาสนาพุทธนิกายเทนได โดยพระบางรูปในนิกายเทนไดถึงกับมีอิทธิพลทางการเมือง มีอำนาจในการชักนำความคิดของเหล่าชนชั้นปกครอง และเพื่อหลบหลีกจากความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น เอไซจึงเดินทางไปยังเมืองคะมะกุระในปี ค.ศ.1199 เพื่อทำการสอนศาสนาให้กับโชกุน และเหล่าชนชั้นนักรบ ที่มีทัศนคติเปิดกว้างกว่า และด้วยเส้นสายจากการเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นนักรบและชนชั้นสูงในสมัยนั้น ส่งผลให้กาลต่อมา เอไซประสบความสำเร็จในการสร้างวัดเซนหลายแห่ง เช่นจูฟุขุเซนจิ วัดเซนแห่งแรกในคะมะกุระ และเคนนินจิ หนึ่งในห้าวัดเซนสำคัญแห่งเกียวโต
จากเจ้อเจียงสู่เมืองอุจิ กำเนิดเมล็ดพันธุ์ ชาญี่ปุ่น
นอกจากมีส่วนในการเผยแพร่และสร้างรากฐานให้แก่ศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เอไซยังมีส่วนช่วยในการจุดประกายวัฒนธรรมการดื่มชาให้กลับมาเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นหลังจากสูญหายไปสามร้อยปี โดยในปี ค.ศ. 1191 เมื่อเอไซเดินทางกลับสู่ญี่ปุ่นหลังจากเดินทางไปจีนรอบที่สองนั้น เขาได้นำเมล็ดพันธุ์ชากลับมาด้วย โดยมอบเมล็ดเหล่านั้นให้กับเมียวเอะ (ค.ศ. 1173-1232) รู้จักกันในอีกชื่อว่าโคเบ็น พระญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญการแต่งกลอน เมียวเอะเพาะเมล็ดชาเหล่านั้นในพื้นที่ของวัดโคซัน ในบริเวณเขตโทะกะโนะโอะ ของจังหวัดเกียวโต ปัจจุบันยังคงปรากฏรุ่นลูกหลานของต้นชาเหล่านั้นอยู่ และสวนชาภายในวัดแห่งนี้ยังถูกเรียกว่าเป็นสวนชาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
เอไซเผยแพร่ชาในหมู่พระด้วยกัน โดยกล่าวว่ามันมีสรรพคุณที่แสนจะวิเศษ นั่นคือช่วยให้ตาสว่าง ไม่ง่วง มีสมาธิที่ดีขึ้น ถูกดื่มกันในหมู่พระ ซึ่งในสมัยนั้น เหล่าพระสงฆ์จะแปรรูปชาโดยการเด็ดยอดชาสด นำมานึ่ง ตากให้แห้ง แล้วบดเป็นผง เมื่อต้องการดื่มก็จะนำไปชงกับน้ำร้อน หลังจากนั้น เมียวเอะได้ทำการเพาะต้นกล้า และเริ่มนำไปปลูกที่อุจิ เมืองเล็กๆที่อยู่ติดกับเกียวโต เมื่อชาเริ่มได้รับความนิยมและแพร่หลาย มีการกล่าวว่าชาจากสวนชาในวัดโคซันคือฮนฉะ 本茶 หรือชาแท้ ส่วนชาที่มาจากที่อื่นคือฮิฉะ 非茶 หรือไม่ใช่ชา
เอไซคือบุคคลสำคัญในการก่อร่างสร้างตัววัฒนธรรมการดื่มชาภายในประเทศญี่ปุ่น
บทบาทหน้าที่เอไซในการผลักดันชายังไม่หมดเพียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชนชั้นนักรบ เอไซได้ทำการรักษาสะเนะโมะโตะ โชกุนคนที่สามแห่งคะมะกุระ จากโรคพิษสุราเรื้อรังโดยใช้ชา และทำการชักนำให้สะเนะโมะโตะหันมาดื่มชาเป็นที่สำเร็จในปี ค.ศ. 1214 ก่อนหน้านั้นสามปี เอไซได้แต่งหนังสือว่าด้วยประโยชน์ของชา (ขิสสะโยโจขิ) หนังสือแบ่งเป็นสองเล่ม เล่มหนึ่งถูกแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1211 และเล่มที่สองถูกแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1214 หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่บันทึกทัศนคติ รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับชาของคนญี่ปุ่นในสมัยนั้น เนื่องจากถูกเขียนด้วยภาษาญี่ปุ่นโบราณ ในปัจจุบันจึงมีการแปลเนื้อหาในหนังสือออกเป็นภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันอยู่หลายสำนวน
หากอ้างอิงจากเนื้อหาของหนังสือขิสสะโยโจขิที่เอไซเขียน เอไซเชื่อว่าชามีประโยชน์ไม่เฉพาะแต่เพียงช่วยให้ตาสว่าง แต่ยังมีความสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจ ช่วยปรับการทำงานของร่างกายให้สมดุล อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ต่อการมีชีวิตยืนยาว
เอไซเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ในปี ค.ศ. 1215 ที่วัดเคนนิน (เคนนินจิ) ในจังหวัดเกียวโต โดย เอไซถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการก่อร่างสร้างตัววัฒนธรรมการดื่มชาภายในประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่การนำเมล็ดพันธุ์จากมณฑลเจ้อเจียงเข้ามาปลูก การแปรรูปใบชา และการชักนำพระสงฆ์ให้หันมาดื่มชาในฐานะของเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างความกระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกง่วงในระหว่างการเจริญสติ การที่ชนชั้นนักรบ ได้แก่ซามูไรและโชกุน ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศญี่ปุ่นหลังจากนั้น ก็ริเริ่มดื่มชา จากการร่ำเรียนพุทธศาสนากับเอไซ หลังจากเอไซเสียชีวิตลง การดื่มชาในประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงพัฒนาเรื่อยมา โดยจะปรากฏบุคคลสำคัญขึ้นมาอีกหลายบุคคล เอาไว้จะมาเขียนเล่าให้อ่านกันในโอกาสถัดไปครับ
*******************************************
หมายเหตุเพิ่มเติม
1. ข้อมูล สรุปจากหนังสือหลายๆเล่มรวมกัน หาก timeline เลขปีคริสต์ศักราชผิดพลาด รบกวนแจ้งมาด้วยครับ
茶道の歴史 (桑田 忠親, 1979)
喫茶養生記 (古田 紹欽, 2000)
栄西『喫茶養生記』の研究 (熊倉功夫 & 姚国坤, 2014)
.
2. ก่อนหน้าที่เอไซจะเอาเมล็ดชาจากเจ้อเจียงเข้ามาปลูก เคยมีการนำเมล็ดชามาเพาะแล้วที่นารา ก่อนหน้านั้นราว 300 ปี ในยุคนั้นเมืองหลวงของญี่ปุ่นอยู่ที่นารา ปลูกในบริเวณพระราชวัง แต่หลังจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับชาก็หายไปจากบันทึกของญี่ปุ่น เข้าใจกันว่าเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่เสื่อมลงเป็นการชั่วคราวในยุคนารา บวกกับคนญี่ปุ่นในยุคนั้นเองก็ยังไม่ได้พิศวาสชามากนัก ประเพณีการดื่มชาจึงสูญหายไป ต้นชาที่ปลูกไว้เข้าใจกันว่าก็คงตายและไม่ได้รับการดูแลต่อ และกว่าที่ชาจะปรากฏในเอกสารของญี่ปุ่นอีกครั้ง ก็เป็นยุคของเอไซในอีกสามร้อยปีถัดมา
.
3. มีงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2002 เพื่อตรวจหาความสัมพันธ์ทางสายเลือดของต้น ชาญี่ปุ่น (Matsumoto, Kiriiwa, & Takeda, 2002). ทราบไหมครับว่าสายเลือดมันไปตรงกับต้นชาในแถบไหนของประเทศจีน คำตอบคือเจ้อเจียงครับ ต้นชาพื้นเมืองของเจ้อเจียงกับต้นชาญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้กันมาก
.
4. รูปวัดคือวัดโคซันจิที่เกียวโต ที่เอไซนำเมล็ดชามาปลูก รูปจาก Wikipedia รูปถัดมาคือรูปสวนชาที่อยู่ภายในวัด เป็นลูกหลานของต้นชาสามต้นแรกของเอไซ สวนชาแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสวนชาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ขอบคุณรูปจากคุณ Nisitakisyou10 ครับ ปัจจุบันสวนชาแห่งนี้ก็ยังคงอยู่ หากอนาคตใครไปเที่ยวเกียวโต สามารถไปเยี่ยมชมดูได้ครับ
.
5. ในยุคนั้นคนญี่ปุ่นยังคงดื่มชาในรูปแบบชาผงตีกับน้ำร้อน ไม่มีการคัดสายพันธุ์ ไม่มีการคลุมต้นชา เป็นใบชาเขียวที่ผลิตแบบง่ายๆแล้วนำไปโม่ ยังไม่มีเซนฉะกับเกียวขุโระ การดื่มชาเป็นไปเพื่อการฝึกสมาธิและสงบจิตล้วนๆครับ
.
6.ในยุคของเอไซนั้นยังไม่มีเกียวขุโระ แต่ในยุคของพวกเรานั้นมีแล้ว สามารถสั่งที่เราได้ครับ เกียวขุโระจากอุจิ เกียวโต เซนฉะตัวอื่นๆ อุจิมัทฉะ ก็มีครับ
.
บทความที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ ชาญี่ปุ่น ตอนที่ 2
UJI MATCHA Yamato มัทฉะเกรดสูง จากเมืองอุจิ
ฉะเซ็น แปรงชงมัทฉะ กับสุนทรียศาสตร์แห่งการชง
ข้อแตกต่างของ ชาเขียว กับชาประเภทอื่นๆ
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE: @kyobashi.tea
SHOPEE: https://shp.ee/2g542sh
LAZADA: lazada.co.th/shop/kyobashi-tea