นับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ชาถูกนำเข้ามาปลูกในญี่ปุ่น คือช่วงก่อน ค.ศ. 1000 มาจนถึงทศวรรษ 1950 ต้นชาในญี่ปุ่นถูกปลูกด้วยการเพาะเมล็ดทั้งสิ้น ทว่าหลังจากมีการค้นพบพันธุ์ยะบุขิตะ ว่าให้ผลผลิตที่มีรสชาติดี (เหมาะสำหรับทำเซนฉะ) ต้นยะบุขิตะต้นแม่ ก็ถูกโคลนนิ่ง โดยวิธีการปักชำ จนต้นชาที่เกิดจากการปักชำจากต้นชาต้นแม่เพียงต้นเดียว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกชากว่า 80% ของพื้นที่ทั้งหมด
.
หมายความว่าก่อนทศวรรษ 1950 มีต้นชาหลายล้านต้นในญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละต้นต่างก็มีรหัสพันธุกรรมเป็นของตนเอง คือมีเป็นล้านๆชุด และแต่ละต้นจะมีหน้าตาแตกต่างกัน อาจคล้ายกันบ้างถ้าสายเลือดใกล้กัน แต่พอเกิดกระแสความนิยมยะบุขิตะขึ้นมา ต้นชาเหล่านั้นก็ถูกถอนรากถอนโคน ถูกแทนที่ด้วยยะบุขิตะเกือบทั้งหมด
ฟังดูน่ากลัวดีใช่มั้ยครับ
กระนั้นก็ตาม ยังเหลือไร่ชาเก่าแก่บางแห่ง ทั้งเกียวโต ชิซึโอะกะ และคะโกะชิมะ ที่ยังคงเหลือต้นชาเก่าแก่เหล่านั้นไว้อยู่
เอาเข้าจริง ไร่ชาหลายๆไร่ในญี่ปุ่น ก็ทำการคัดเลือกสายพันธุ์กันขึ้นมาเอง โดยการคัดเลือกเมล็ดจากต้นชาพันธุ์พื้นเมืองในไร่ของตน หลายๆไร่ มีการตั้งชื่อสายพันธุ์เอง คือคัดเลือกสายพันธุ์จากเมล็ดที่คิดว่าดีที่สุด ตั้งชื่อเอง ปลูกเอง ขยายพันธุ์เอง ทำขายเอง ชาบางตัว ก็เลยหาที่ไหนไม่ได้ นอกจากไร่แห่งนั้น
เวลาปักชำต้นชา ถ้ารากติด ส่วนของตาจะแตกเป็นยอดใหม่ตามรูป หลังจากผ่านไปสักสิบเดือนหน่อเล็กๆนี้ก็จะเติบโตขึ้นหนึ่งคืบ พอต้นกล้าอายุได้สักหนึ่งปีครึ่ง ก็จะถูกนำลงดิน หลังจากนั้นก็ถูกรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่งทุกปี ผ่านไปสัก 3 ปี ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
จริงๆส่วนตัวชอบทั้งวิธีปักชำและเพาะเมล็ด เพราะการปักชำช่วยควบคุมผลผลิตได้ดี แต่การเพาะเมล็ดสร้างความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า ซึ่งพันธุ์ชาต่างๆที่ให้กลิ่นหอมต่างๆกันทุกวันน้ี ไม่ว่าจะยะบุขิตะ สะเอะมิโดะริ โร่วกุ้ย ต้าหงเผา ฝูติ่งต้าไป๋ เถี่ยกวนอิน ต่างก็เกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพที่หาได้จากการเพาะเมล็ดแทบทั้งสิ้น
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นไปอีก ลองนึกถึงตันฉงสิครับ มีเป็นร้อยๆกลิ่น ก็เกิดจากการเพาะเมล็ดนี่เอง หรือเหยียนฉา ทำออกมาได้หลายตัว หลายกลิ่น หลายเอกลักษณ์ ต่างก็เกิดจากความหลากหลายที่ถูกสร้างโดยธรรมชาติเช่นเดียวกัน
ปล. นอกจาก “ยะบุขิตะ” (กอไผ่ทิศเหนือ)แล้ว ยังมี “ยะบุมินะมิ” (กอไผ่ทิศใต้) พี่น้องของมันด้วยนะครับ อยู่ในแปลงเดียวกัน แต่คนละทิศ แล้วก็ไม่ได้ดังเท่าตัวพี