รากของต้นชาสายพันธุ์อัสสัม อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ในเรื่องของสายพันธุ์ของต้นชา จริงๆแล้วภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีต้นชาอยู่มากมาย ต้นชาแบบแรกคือต้นชาสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งแท้จริงแล้วคือต้นเมี่ยงที่ชาวล้านนานำใบมาหมักเป็นเมี่ยง ของกินเล่นของคนสมัยก่อน ต้นเมี่ยงเหล่านี้เจริญเติบโตอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นหมื่นเป็นแสนปี หากนับกับตามสกุลของพืช ต้นชาหรือต้นเมี่ยงคือต้นพืชที่อยู่ในสกุล camellia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า camellia sinensis var assamica เป็นไม้ยืนต้น ใบใหญ่ สามารถเจริญเติบโตได้สูงมากกว่าสิบเมตร ต้นชาสายพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติบนยอดดอยต่างๆในภาคเหนือของประเทศไทยเหล่านี้ เป็นต้นชาที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์พื้นเมืองของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเมื่อนำมาทำเป็นชาผูเอ่อแล้วมีลักษณะของกลิ่นและรสที่คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อค้าชาบางส่วนที่เดินทางข้ามประเทศมาซื้อใบชาแห้งจากไทย แล้วจึงนำกลับไปทำเป็นชาผูเอ่อต่อที่เมืองจีน สาเหตุเป็นเพราะสายพันธุ์ของต้นชาพื้นเมืองของเรากับของเขาใกล้กันมากนั่นเอง
ในตำราว่าด้วยต้นชาหลายๆเล่ม ระบุว่าต้นกำเนิดของต้นชาแท้จริงแล้วคือพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณมณฑลยูนนาน ภาคเหนือตอนบนของพม่า ไทย และลาว ต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ถูกชนพื้นเมืองในแต่ละพื้นที่เก็บเกี่ยวใบนำมาใช้ประโยชน์ อย่างเช่นชาวยูนนานนำใบไปทำชาผูเอ่อ ชาวล้านนานำไปหมักเป็นเมี่ยง ในขณะที่ชนพื้นเมืองของพม่ามีการนำยอดชาไปหมักดอง เพื่อกินกับ พริก ถั่ว และกระเทียม เป็นเมนูอาหารของชาวพม่าชนิดหนึ่งที่สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้
ในประเทศจีนเอง มีการเรียกต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในมณฑลยูนนานว่า เหยี่ยฉา แปลว่า ชาที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ หรือ wild tea ในภาษาอังกฤษ ในขณะที่ในประเทศไทย เรามีการเรียกต้นชาพวกนี้ว่า ชาป่า เพราะต้นชามักขึ้นแซมอยู่กับต้นไม้ต้นอื่นๆในป่า เพราะต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองหรือสายพันธุ์อัสสัมนี้ชอบความชุ่มชื้น หากนำไปปลูกกลางแดดแล้วใบจะไหม้ ต้องปลูกในที่ร่มรำไร มีความชื้นสัมพันท์สูง อีกทั้งเนื่องจากต้นชาเหล่านี้ขึ้นอยู่กันเองตามธรรมชาติมาแล้วตั้งแต่ก่อนมนุษย์จะตั้งถิ่นฐาน ต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองจึงมีการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและสภาวะแวดล้อม เนื่องจากผ่านการกลายพันธุ์มาแล้วหลายชั่วรุ่น การปลูกต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองจึงไม่ต้องให้การดูแลอย่างทะนุทะนอนมาก ต้นชามีการทนต่อแมลงได้เป็นอย่างดี ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของต้นชาสายพันธุ์พื้นเมืองคือมีรากแก้ว เนื่องจากต้นชาเจริญเติบโตโดยงอกออกมาจากเมล็ด รากแก้วของต้นชาเหล่านี้สามารถแทงลงสู่พื้นดินได้เป็นสิบๆเมตร รากเหล่านี้เองที่ช่วยให้ป่าชุ่มชื้น อีกทั้งยังช่วยพยุงดิน รักษาหน้าดินมิให้พังทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่แถบภูเขาสูงที่มีโอกาสเกิดน้ำป่าไหลหลากสูง การปลูกต้นชาอัสสัมก็จะช่วยได้ในเรื่องของการรักษาหน้าดิน
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา