ช่วงนี้หนักไปทางดื่มชาญี่ปุ่นครับ เนื้อหาเกี่ยวกับชาที่อ่านก็เน้นไปทางญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะว่าปีที่แล้วอ่านของจีนมาค่อนข้างเยอะ พวกสูตรการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยควบคุมในสภาพการทำงานของการผลิตอู่หลง

ช่วงสองสามเดือนมานี้ได้ดื่มชาญี่ปุ่นไปหลายสิบตัว ไล่ตั้งแต่ไซตะมะ ชิซึโอะกะ เกียวโต ลงไปใต้สุดที่คะโกะชิมะ ชิมไปสิบกว่าสายพันธุ์ ทั้งแบบ Single Origin (Single Estate/ Single Cultivar ชาจากไร่เดียว สายพันธุ์เดียว ไม่ผ่านการเบลนด์ 単一茶園, 単一品種) ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมช่วงหลังมานี้คนในวงการชาเริ่มนิยมชมชอบชาประเภทนี้มากขึ้น เพราะมันได้ทั้งความสุนทรีย์และได้ทั้งอรรถรสของความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์นั่นเอง
.
จะว่าไปจริงๆแล้วถ้าเป็นชาจีนเกรดบนขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่นเหยียนฉา หรือตันฉงตัวต่างๆ เขาก็จะขายกันแบบ Single Origin แบบนี้ครับ อย่างเช่นก่อนที่จะสั่งโร่วกุ้ยสักตัวเข้ามา ที่ไรงงานเขาก็จะส่งมาให้ชิมหลายๆล็อต ชอบล็อตไหนก็สั่งล็อตนั้น เขาจะไม่เอามาผสมกัน เวลาผลิตออกมาเป็นเหมาฉาในช่วงเดือนห้า เขาก็แยกไว้ ตอนเอาไปคัดก้านออกจากใบก็แยกไว้ เอาไปอบไฟก็แยกกันเป็นล็อตๆ เวลาจะชิมเพื่อซื้อก็ชิมเป็นล็อตๆ แต่ถ้าเป็นชาเกรดกลางลงมาจะถูกเอาไปเบลนด์ผสมกัน ยกเว้นแต่พวกเกรดบนๆครับที่เขาถือว่าเป็นสุนทรีย์ของการใช้ประสาทสัมผัสลิ้มรสชาติที่แตกต่างกันของชาแต่ละตัว

ส่วนตัวความรู้ ที่ช่วงนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติม จะมาจากงานวิจัยของญี่ปุ่น หนังสือที่จัดพิมพ์โดยสมาคมชาของชิซึโอะกะ และพูดคุยกับคุณลุงที่ปลูกชาและผลิตชาเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ข้อมูลมาหลายๆอย่าง ที่เริ่มทดลองทำแล้วก็คือการใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่เป็นสูตรของทางเกียวโต เพราะคนญี่ปุ่นได้ทดลองมาหลายร้อยปีแล้วว่าปุ๋ยหมักบางสูตรจะทำให้ชามีรสอุมามิที่มากขึ้น ในขณะที่บางสูตรจะทำให้กลิ่นใบชาหอมขึ้น แต่รสอุมามิลดลง ซึ่งแต่ละไร่ในเกียวโตก็จะไม่ใช้สูตรปุ๋ยหมักสูตรเดียวกัน จะมีการผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปให้เป็นเอกลักษณ์ของไร่ ตรงนี้ได้ทดลองทำแล้ว และพบว่าปุ๋ยมีผลต่อรสชาติของชาจริงๆ ตรงนี้ต้องขอบคุณแฟนเพจบางท่านด้วยครับที่ปีก่อนช่วยชิมชาที่ทดลองทำไปหลายตัว
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปุ๋ยกับรสชาติชานี่เป็นเรื่องจริงนะครับ ชาที่ปลูกแบบธรรมชาติ ให้เทวดาเลี้ยง ไม่ใส่ปุ๋ย รสชาติจะได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น พวกชาอร่อยๆ ชาประกวด ชาชนะรางวัล หรือชาตัวแพงๆที่ขายกันให้คอชา ถูกใส่ปุ๋ยทั้งหมดครับ ที่ไต้หวัน ก็ใช้ปุ๋ยในการควบคุมรสชาติชาเหมือนกัน

เรื่องการตัดพุ่มชานี้ก็สำคัญมากครับ ไม่ใช่แค่ว่าเป็นการตัดเพื่อควบคุมทรงพุ่มเท่านั้น แต่มันส่งผลต่อไปถึงเรื่องของสารอาหารที่สะสมอยู่ในต้นชาด้วย ชาจะอร่อยหรือไม่อร่อย วิธีการตัดทรงพุ่มก็ส่งผลอย่างมากเช่นกัน


KYOBASHI chiang rai